ยลเสน่ห์ดินแดนอีสานใต้กับ BMW X4 xDrive20i M Sport
ในยามที่สายฝนโปรยปราย ความเขียวชอุ่มของต้นไม้ใบหญ้า สายลมเย็นๆ ที่พัดผ่านบ่งบอกให้รู้ว่าช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวกำลังจะมาเยือน ใครต่อใครมักจะนึกถึงการนอนอยู่ที่บ้านซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มฟังเสียงฝนตกกระทบหลังคา แต่หากยังมีใครหลายๆ คนที่หลงรักการเดินทางท่องเที่ยวในฤดูกาลเช่นนี้ โดยเฉพาะเสน่ห์ของอีสานใต้ในยามฝนพรำ ทุ่งนาที่เขียวขจีสุดลูกหูลูกตา ความงดงามของธรรมชาติตลอดสองข้างทาง เสน่ห์ที่รอคุณมาสัมผัสความเย็นสบายของอากาศ วัฒนธรรม เรื่องเล่า และผู้คนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ณ ที่แห่งนี้ “บุรีรัมย์และสุรินทร์ เมืองต้องห้าม...พลาด Plus”
เราใช้รถ BMW X4 xDrive20i M Sport 5 ประตู สีแดงโฉบเฉี่ยวสุดหรูที่ผสมผสานคุณสมบัติเฉพาะตัวของรถยนต์ตระกูล X เข้ากับความสง่างามสไตล์สปอร์ตของรถคูเป้ได้อย่างลงตัว เป็นพาหนะคู่ใจพาพวกเราทะยานไปบนเส้นทางสายมิตรภาพมุ่งหน้าสู่ถิ่นอีสานใต้อย่างรวดเร็วด้วยความมั่นใจในระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ 4 ล้อ แบบ xDrive เหมาะสำหรับการเดินทางไกล แม้ว่าบางช่วงจะต้องฝ่าสายฝนที่ตกกระหน่ำแต่เราสัมผัสได้เลยว่ารถนิ่ง และเกาะถนนได้ดีมาก
ภายในห้องโดยสารกว้างเติมเต็มความสปอร์ตกับพวงมาลัยหนัง เบาะนั่งแบบสปอร์ตนั่งสบาย และประดับคอนโซลด้วยวัสดุ Aluminium Brushed เสริมความหรูหราและโฉบเฉี่ยวในรุ่น M Sport ด้วยชุดแต่ง M Aerodynamic ขอบหน้าต่างแบบ High-Gloss Shadow Line ล้ออัลลอย M Sport ขนาด 19 นิ้ว เครื่องยนต์เบนซิน BMW TwinPower Turbo ขนาด 2 ลิตร ที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุอลูมิเนียม มีพละกำลังสูงสุด 184 แรงม้า ส่วนระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีดที่ติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานช่วยลดระดับการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลงมาที่ 12.3 กิโลเมตรต่อลิตร และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สร้างมลพิษในอากาศได้อีกด้วย เมื่อเหลือบมองเพื่อนร่วมทางที่หลับใหลราวไม่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวภายนอกแล้ว ฉันตัดสินใจเดินทางต่อโดยไม่แวะพักด้วยความมั่นใจในสมรรถนะของ BMW X4 xDrive20i M Sport คันนี้ว่าจะพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย ที่สำคัญห้องเก็บของด้านหลังกว้างขวางสามารถบรรจุกระเป๋าเดินทางของเรา 3 ใบ รวมถึงกระเป๋าอุปกรณ์ถ่ายภาพได้สบาย หมดกังวลเพราะยังมีที่เหลือไว้สำหรับของฝากขากลับอีกเพียบ ถูกใจนักเดินทางอย่างพวกเรามากค่ะ
เราขับรถกันแบบสบายๆ ไม่เร่งรีบใช้เวลาไม่นานนักก็เข้าเขตตัวเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นช่วงเวลาที่แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ณ บริเวณ อนุสาวรีย์พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 พอดี เกิดเป็นภาพที่งดงามจนช่างภาพของเราอดใจไม่ไหวขอลงไปเก็บภาพสวยๆ ของบรรยากาศยามเย็นกับรถคู่ใจสุดหรูคันนี้
อนุสาวรีย์พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของชาวบุรีรัมย์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าพระยาจักรีได้ยกทัพไปปราบขบถพระยานางรอง ซึ่งคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอิน แห่งจำปาศักดิ์ ขณะเดินทัพกลับพบเมืองร้างอยู่ที่ลุ่มน้ำห้วยจระเข้มากมีชัยภูมิดีแต่มีไข้ป่าชุกชุมผู้คนไม่กล้าอยู่อาศัย จึงรวบรวมผู้คนตั้งเป็น เมืองแปะ (บริเวณนั้นมีต้นแปะขึ้นชุกชุม) และให้บุตรเจ้าเมืองพุทไธสงเป็นเจ้าเมืองได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยานครภักดี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองบุรีรัมย์
พระบรมราชานุสาวรีย์มีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ในฉลองพระองค์แบบนักรบตามขัตติยะราชประเพณีโบราณประทับบนหลังช้างศึก โดย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ อนุสาวรีย์แห่งนี้จึงนับเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบุรีรัมย์ ที่แสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี
หลังจากอิ่มท้องกับมื้อเย็นแล้วเราออกมาขับรถชมเมืองกัน บุรีรัมย์วันนี้ยังคงมนต์ขลังของความเป็นเมืองเก่าที่รุ่มรวยด้วยอารยธรรมขอมโบราณ เพิ่มเติมคือสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ผสมกลมกลืนไปกับปราสาทหินน้อยใหญ่ได้อย่างลงตัว...รุ่งเช้าเราจะแวะไปกราบสักการะศาลหลักเมืองบุรีรัมย์เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังจังหวัดสุรินทร์
ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวบุรีรัมย์ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะต้องแวะมาสักการะขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล เดิมเป็นศาลเล็กๆ เก่าแก่และชำรุดทรุดโทรม ชาวบุรีรัมย์จึงได้ร่วมใจกันสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2548 และมอบให้กรมศิลปากรออกแบบ โดยเลียนแบบปราสาทพนมรุ้งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวบุรีรัมย์ ทำให้ศาลหลักเมืองแห่งนี้มีความงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบศิลปะขอมโบราณ ภายในศาลเป็นที่ตั้งเสาหลักเมือง ซึ่งแปลกตรงที่มีเสา 2 ต้น สันนิษฐานว่าเสาต้นที่ 1 (ต้นเอียง) เป็นเสาหลักเมืองเก่าที่ตั้งขึ้นเมื่อสร้างเมืองแปะ ส่วนต้นที่ 2 น่าจะตั้งขึ้นเมื่อมีฐานะเป็นจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว ภายในบริเวณยังตั้งศาลเจ้าจีนตามรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน ภายในศาลปึงเล่ากงม่ามีพระบรมรูปของเจ้าพระยาจักรีผู้สร้างเมืองแปะ และเทพเจ้าต่างๆ เช่น เจ้าย่า เจ้าปู่ เทพเจ้ากวนอู เพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีนได้มากราบไหว้สักการะ บริเวณรอบศาลร่มรื่นด้วยต้นไม้และสระน้ำรวมถึงต้นแปะซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองบุรีรัมย์ ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ที่ถนนจิระ เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าสักการะและถ่ายภาพได้ตั้งแต่เวลา 06.00-17.00 น.ค่ะ
ช่วงสายของวันเราออกเดินทางต่อด้วยรถ BMW X4 xDrive20i M Sport คู่ใจมุ่งหน้าสู่จังหวัดสุรินทร์ ระยะทางประมาณ 52 กิโลเมตร บรรยากาศตลอดสองข้างทางเขียวขจีด้วยทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา เห็นแล้วภูมิใจแทนชาวนาไทยที่ข้าวหอมมะลิไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุด เราใช้เวลาไม่นานก็ถึงตัวเมืองสุรินทร์ ทุกคนพร้อมใจกันแวะสักการะศาลหลักเมืองเป็นสิ่งแรกเพื่อความเป็นสิริมงคล
ศาลหลักเมืองสุรินทร์
ตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง เดิมเป็นศาลเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี เมื่อปี พ.ศ. 2511 ชาวสุรินทร์และกรมศิลปากรได้ออกแบบสร้างศาลหลักเมืองใหม่ เป็นรูปปราสาทยอดปรางค์ สถาปัตยกรรมขอมประยุกต์ โดยได้รับมอบไม้ชัยพฤกษ์ สูง 3 เมตร วงรอบ 1 เมตร จากนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และนำมาแกะสลักตกแต่งส่วนบนเป็นรูปพระพรหมสี่หน้า โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีเจิมเสาหลักเมือง ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2515 และผู้ว่าราชการสมัยนั้นได้อัญเชิญเสาหลักเมืองขึ้นบนแท่นประดิษฐานไว้ที่ศาลหลักเมือง โดยทำพิธียกเสาหลักเมืองและสมโภชเมื่อปี พ.ศ. 2517 หลังกราบสักการะศาลหลักเมืองแล้ว พวกเราก็ปักหมุดมุ่งตรงสู่หมู่บ้านช้าง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม
ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก
“ช้าง” เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของสุรินทร์ ถนนทุกสายรถทุกคันจึงมุ่งมาที่ “ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง” เพื่อชมวิถีชีวิตของคนและช้างที่อยู่ร่วมกันได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง เป็นหมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งคนและช้างจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดียวกันกว่าร้อยครัวเรือน ที่นี่เราจะได้เห็นคนและช้างใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเกื้อกูล ทุกบ้านจะเลี้ยงช้างเอาไว้ในชายคาเดียวกัน และดูแลช้างของตัวเองอย่างใกล้ชิด จนมีความรู้สึกผูกพันเหมือนเป็นเพื่อนหรือญาติคนหนึ่งเลย
คนเลี้ยงช้างที่นี่สืบเชื้อสายมาจากชาวกูยหรือกวย (ชาวเขมร-มอญตระกูลหนึ่ง) ที่มีความชำนาญในการจับช้างป่าและการเลี้ยงช้าง ชาวกวยมีหน้าที่จับช้างป่าเพื่อส่ง ‘ส่วย’ มาตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ (ชาวบ้านจึงเรียกชาวกวยว่าชาวส่วย) แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ทำแบบนั้นแล้ว แต่ชาวกวยยังคงเลี้ยงช้างและฝึกช้างต่อไป เพื่อนำมาร่วมแสดงในงาน “มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์” ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ในทุกปี
ชาวกวยมีวิถีชีวิตและความเชื่อของชนเผ่าที่ไม่เหมือนใคร บ้านของชาวกวยจะมี ศาลปะกำ ซึ่งเป็นเสมือนเทวาลัยสิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำไว้คุ้มครอง โดยจะมีประเพณีกราบไหว้ศาลปะกำประจำตระกูลทุกปี หนังปะกำ เป็นหนึ่งในเครื่องมือการจับช้างของหมอช้าง ทำด้วยหนังควาย 3 เส้นมาฟั่นเป็นเกลียว ซึ่งหมอช้างจะต้องลงอาคมและทำพิธีบวงสรวงก่อนออกไปจับช้าง ชาวกวยจึงเชื่อว่าหนังปะกำเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพชน และนับถือหนังปะกำหรือผีปะกำสืบต่อกันมา สมัยโบราณหมอช้างจะต้องทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ก่อนจะออกไปจับช้างป่า แม้ปัจจุบันไม่มีการจับช้างแล้ว แต่พิธีกรรมเหล่านี้ก็ยังคงอนุรักษ์ไว้สืบต่อกันมา เป็นพิธีกรรมโบราณที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน คนที่จะเป็น หมอช้าง ได้จะต้องสืบเชื้อสายมาจากชาวกวย และต้องผ่านพิธีกรรมจากครูบาใหญ่ เริ่มตั้งแต่ มะ คือผู้ช่วยช้างต่อ เมื่อผ่านพิธีจะได้รับการแต่งตั้งเป็น จา เมื่อจับช้างได้ 1-5 เชือก เลื่อนเป็น หมอสะเดียง จับช้างได้ 6-10 เชือกเลื่อนเป็น หมอสะดำ ตำแหน่งสูงขึ้นมาคือ ครูบา คือหัวหน้าช้างต่อ และตำแหน่งสูงสุดคือ ครูบาใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติและจะมีเพียงคนเดียวเท่านั้น สามารถจัดพิธีกรรมต่างๆ ได้ และเป็นบุคคลที่หมอช้างให้ความเคารพและเชื่อฟัง แต่หมอช้างทุกตำแหน่งล้วนมีความสำคัญเวลาออกไปโพนช้างทั้งสิ้น
ภายในหมู่บ้านช้างยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงทุกอย่างเกี่ยวกับช้างตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีบริการนั่งช้างชมหมู่บ้าน บริการโฮมสเตย์สำหรับคนที่ต้องการพักค้างแรมและเรียนรู้วิถีชีวิตคนกับช้าง ร้านขายของที่ระลึก และการแสดงของช้างแสนรู้ที่นักท่องเที่ยวจะต้องอมยิ้มตามเมื่อได้เห็นความน่ารักและฉลาดของช้างที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป เตะฟุตบอล เต้นรำ การปาลูกโป่งที่คนดูต้องแอบลุ้นตาม เปิดแสดงให้ชมวันละ 2 รอบ
งานกิจกรรมงานช้างประจำปี 2559 “รวมช้าง รวมใจ ไว้อาลัยพ่อหลวง”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย
ระหว่างวันที่ 17 – 20 พฤศจิกายน 2559
โดยมีช้างของจังหวัดสุรินทร์กว่า 200 เชือกมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ซึ่งประกอบด้วย
- วันที่ 17 พฤศจิกายน กิจกรรมจัดโต๊ะเลี้ยงอาหารช้าง และซ้อมเสมือนจริงของงานกิจกรรม “รวมช้าง รวมใจ ไว้อาลัยพ่อหลวง“
- วันที่ 18 พฤศจิกายน พิธีเซ่นศาลปะกำ ขบวนช้างและขบวนประชาชนชาวสุรินทร์ ร้อยดวง ใจไว้อาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และกิจกรรมเลี้ยงอาหารช้าง ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง
- วันที่ 19 และ 20 พฤศจิกายน กิจกรรม “รวมช้าง รวมใจ ไว้อาลัยพ่อหลวง” ณ สนามแสดงช้าง จังหวัดสุรินทร์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์
โทร.0 4451 4447-8
สุสานช้าง หนึ่งเดียวในโลก
จากหมู่บ้านช้างเลยขึ้นมาไม่ไกลนัก เรามีนัดกับ สายฟ้าและวรรณา ศาลางาม สองสามีภรรยาชาวกวยที่ “วัดป่าอาเจียง” เพื่อมาชมสุสานช้างแห่งเดียวในโลก และเก็บภาพวิถีชีวิตของชาวกวยหรือคนเลี้ยงช้างที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
สายฟ้า เป็นชาวกวยโดยกำเนิด เขาเกิดและเติบโตที่บ้านตากลาง และเพิ่งผ่านพิธีเป็นหมอช้างไปไม่นาน แม้สายฟ้าจะยังไม่เคยจับช้างแต่เขาก็มักคุ้นกับช้างมาตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับ วรรณา ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวกวย และเลี้ยงช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากทำนาแล้วสายฟ้ายังดูแลโฮมสเตย์ของหมู่บ้าน และเป็นกรรมการในสมาคมท่องเที่ยวสุรินทร์ ยามว่างทั้งคู่จะทำหน้าที่เป็นจิตอาสาช่วยงานหลวงพ่อหาญที่วัดป่าอาเจียง คอยให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยว เพราะพวกเขาอยากให้ทุกคนได้เข้าใจวิถีชีวิตของชาวกวยหรือคนเลี้ยงช้างอย่างถูกต้อง
‘ช้าง’ ไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวกวยเท่านั้น แต่ยังเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่โบราณ จนถึงทุกวันนี้คนไทยยังมีความเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์มงคล ประเพณีหลายอย่างมีการนำช้างมาร่วมพิธี เช่น ประเพณีแห่นาคด้วยช้าง ประเพณีลอดท้องช้าง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เมื่อช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อแผ่นดินตายลง ชาวกวยจึงนำเอาซากของช้างไปฝังในป่าและทำพิธีประดุจญาติคนหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีการสร้าง ‘สุสานช้าง’ ขึ้นบริเวณวัดป่าอาเจียง โดยความคิดริเริ่มของ พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง เมื่อปี พ.ศ. 2538 ชาวกวยจึงนำซากกระดูกช้างที่ฝังไว้ตามป่ามาฝังรวมไว้ที่สุสานช้างแห่งนี้จนกลายเป็นสุสานช้างในที่สุด
มีเรื่องเล่าว่าหลวงพ่อหาญฝันถึงพังคำมูลช้างที่เคยผูกพันมาตั้งแต่เด็กและถูกรถชนตายไปเมื่อหลายปีก่อนว่าอยากขอมาอยู่ด้วย ท่านจึงไปขอซื้อซากของพังคำมูลนำกลับมาฝังไว้ที่บริเวณวัด เมื่อชาวบ้านทราบข่าวต่างก็นำกระดูกช้างที่ฝังตามไร่นามาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศล และฝังไว้ในบริเวณนี้รวม 40 หลุม เมื่อนายอำเภอท่าตูมมาเห็นเข้าจึงขอทุนจากจังหวัดมาสร้างเป็นสุสานช้าง โดยทางวัดและญาติโยมช่วยกันต่อยอดจนเป็นสุสานช้าง 100 หลุม โดยแต่ละหลุมจะจารึกชื่อของช้างที่เสียชีวิตเอาไว้ นอกจากนี้หลวงพ่อท่านยังออกแบบหลุมให้เป็นรูปหมวกโบราณสีเทาฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้ความร่มเย็นกับช้างที่เคยมีบุญคุณกับคนเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามไม่น่ากลัวเหมือนสุสานทั่วไป หลวงพ่อบอกว่ายังมีช้างที่รอการเคลื่อนย้ายกระดูกกลับมาฝังที่สุสานช้างอีกหลายเชือก แต่ต้องรอเวลา 5 - 7 ปี เพื่อให้ซากย่อยสลายจนเหลือแต่กระดูกก่อน ซึ่งในการเคลื่อนย้ายกระดูกช้างแต่ละเชือกต้องใช้เงินจำนวนมาก ทางวัดต้องอาศัยเงินบริจาคจากญาติโยมสมทบทุนในการทำสุสานช้าง และการเคลื่อนย้ายกระดูกช้างเพื่อเอามาบรรจุในสุสานช้าง ท่านใดมีจิตเมตตาสามารถติดต่อบริจาคได้ที่พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร โทร 08 1760 3761
ปัจจุบันวัดป่าอาเจียงได้พัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตคนกับช้าง มีการจัดสร้างโครงการคชอาณาจักรเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วงจรชีวิตของช้าง และจัดทำภาพประวัติช้างแต่ละเชือก ภายในบริเวณยังมีศาลปะกำซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกวยนับถือ รวมถึงภาพถ่ายและเครื่องมือการจับช้างสมัยโบราณมาจัดแสดง ทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวกวยคนเลี้ยงช้างในอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าช้างจะเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล แต่คงไม่มีที่ไหนยิ่งใหญ่และงดงามเท่ากับวิถีชีวิตของคนกับช้างที่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งสืบทอดต่อกันมานานนับร้อยปีแล้ว
การเดินทางค้นหาเสน่ห์ของอีสานใต้จบลงด้วยความรู้สึกอิ่มเอม ขอบคุณ BMW X4 xDrive20i M Sport ที่พาเราออกไปค้นหาเรื่องราวประทับใจมากมาย และยังเป็นเพื่อนร่วมทางที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจตลอดการเดินทางอีกด้วย