เสื่อกกจันทบูร มรดกทางภูมิปัญญาของชาวจันทบุรี
เสื่อกกจันทบูร
มรดกทางภูมิปัญญาของชาวจันทบุรี
เสื่อจันทบูร งานหัตถศิลป์พื้นถิ่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัดจันทบุรี หัตถกรรมพื้นบ้านจากภูมิปัญญาการทอเสื่อที่สืบทอดส่งต่อความงดงามจากรุ่นสู่รุ่นกันมาอย่างยาวนานกว่า 120 ปี ได้รับการต่อยอดจนเป็นจนเป็นที่รู้จักของทั้งชาวไทยและโด่งดังสร้างชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ ด้วยภูมิศาสตร์ทางธรรมชาติ ที่ราบลุ่มแม่น้ำพื้นที่ชายฝั่งในจังหวัดจันทบุรี เอื้ออำนวยต่อการปลูกต้นกกที่มีลักษณะพิเศษคือ มีความเหนียว ผิวมันวาว มีลำต้นยาวและแข็งแรง เหมาะแก่การนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทอเสื่อส่งผลให้เส้นใยกกเหนียว นุ่ม ผิวกกเป็นมันมีความคงทน
ในช่วงหนึ่งนั้นการทอเสื่อได้ซบเซาลงหลังจากยุคของการทำพลอยของเมืองจันท์เฟื่องฟูจนแทบเกือบสูญหายไป และได้กลับมามีชีวิตและรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้ทรงฟื้นฟูครั้งเมื่อพระองค์ได้เสด็จมาประทับ ณ วังสวนบ้านแก้ว เมื่อปี พ.ศ.2493 โดยทรงส่งเสริมหัตกรรมการทอเสื่อ ทรงริเริ่มคิดค้นออกแบบลวดลายรวมถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ปรับปรุงเทคนิคการฟอกและย้อมสี ทรงคิดประดิษฐ์เสื่อกกเป็นเครื่องใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ที่รองจาน ที่รองแก้ว กระเป๋าถือ กล่องใส่กระดาษเช็ดหน้า เข็มขัด ฯลฯ ซึ่งจัดทำโดยข้าราชบริพารในวังสวนบ้านแก้ว และนำออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อสินค้าว่า “S.B.K. ส.บ.ก. อุตสาหกรรมชาวบ้าน The Peasant Industries, RAMBHAI PANA LTD. THAILAND.” ได้รับการเรียกขานกันเป็นสามัญว่า ผลิตภัณฑ์เสื่อสมเด็จฯ
ปัจจุบันเสื่อกกจันทบูรมีหลากสีหลายลาย เช่น ลายตาสาม ลายตาขำ ลายตาแขก ลายข้าวเปลือก ลายลูกโซ่ ฯลฯ โดยเฉพาะลายโบราณอย่างลายตารางแดงดำได้รับความนิยมมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาถึงขั้นทอเสื่อกกแบบ “ยกลาย” คล้ายการยกลายในผ้าไหมทำให้เสื่อกกของจันทบุรีมีความน่าสนใจมากขึ้น ในปัจจุบันเสื่อกกจันทบูรยังคงเป็นสินค้าของฝากยอดนิยม หมู่บ้านที่ยังมีการรวมกลุ่มทำหัตถกรรมพื้นบ้านทอเสื่อกก เช่น บ้านเสม็ดงาม บ้านบางสระเก้า บ้านเขาน้อยท่าแฉลบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการผลิตโดยมีการร่วมมือกับนักออกแบบท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่มาช่วยพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูน่าใช้และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีการออกแบบสร้างสรรค์ลวดลายการทอใหม่ๆ ด้วยการนำ “ลายปัญจจันทบูร” ซึ่งเป็นลายผ้าประจำจังหวัดจันทบุรีมาพัฒนาต่อยอดสู่ลายเสื่อกก รวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อทำการตลาดและออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อให้เสื่อกกจันทบูรเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น เสื่อจันทบูรได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ของภูมิภาคตะวันออกไทยจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรับรองได้ว่าเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะจากภูมิปัญญาและภูมิศาสตร์ท้องถิ่น เป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์และได้มาตรฐาน ช่วยยกระดับรายได้ท้องถิ่นและส่งผลให้ขยายตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ขอบคุณข้อมูล จากสถาบันพระปกเกล้า... ข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับจังหวัดจันทบุรี
#กินเที่ยวสุดฟิน@จันทบุรี #aworldconnect #สีสันตะวันออก