วัดสันป่ายางหลวง ลำพูน ความงามวิจิตรศิลป์ ถิ่นล้านนา

การไปเยือนจังหวัดลำพูนหนนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสแวะเยี่ยมชม วัดสันป่ายางหลวง วัดที่มีความวิจิตร งดงามของสถาปัตยกรรรมแบบล้านนาที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดในภาคเหนือ ความงามที่ยิ่งใหญ่อันแสนประณีตเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเป็นศูนย์รวมใจของชาวลำพูน
วัดสันป่ายางหลวง วัดเก่าแก่อายุกว่าพันปีอยู่คู่ชาวลำพูนมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันยังมีหินทรายจำหลักปรากฎให้เห็นเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านสันป่ายางหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน แต่เดิมนั้นวัดแห่งนี้เป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์ ต่อมาพระกัณฑ์พระโสภโณ พระอุตตโม พระเถระจากพม่าได้มาจำพรรษา ชาวบ้านได้ฟังธรรมมะก่อเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นวัดทางพระพุทธศาสนาเมื่อปี พุทธศักราช 1074 ชื่อว่าวัดขอมลำโพง เหตุด้วยชุมชนละแวกนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวขอม ถือได้ว่าเป็นวัดพุทธวัดแรกของดินแดนล้านนา


ต่อมาประมาณปีพุทธศักราช 1202 ในรัชสมัยพระนางจามเทวี ผู้สร้างเมืองและครองราชย์เป็นกษัตรีองค์แรกของเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) พระองค์ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดขอมลำโพงใหม่ทั้งหมด พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพัฒนารามป่าไม้ยางหลวง ด้วยเป็นสถานที่ ที่สงบเหมาะแก่การปลีกวิเวกเต็มไปด้วยต้นยางใหญ่น้อยจำนวนมาก พระนางจามเทวีได้ปฏิบัติธรรม ณ วัดแห่งนี้ตลอดพระชนม์ชีพและเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต วัดแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ถวายเพลิงพระศพของพระนาง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อวัดอีกครั้งเรียกว่าวัดสันป่ายางหลวงมาจนถึงปัจจุบัน


ภายในบริเวณวัดจะมี พระธาตุวัดสันป่ายางหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุกลางกระหม่อมของอัครสาวกในองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระโมคคัลลานะ กับ พระสารีบุตร นับเป็นความสิริมงคลเกินคณานับเพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา
พระวิหารพระเขียวโขง เป็นพระวิหารที่สวยงามติดอันดับ 1 ใน 10 ของไทย สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2546 โดยพระครูปัญญาธรรมวัฒน์ (พระครูบาอินทร ปัญญาวัฑฒโน) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง ลวดลายพื้นเมืองผสมผสานระหว่างของเก่ากับของใหม่ วัสดุในการก่อสร้างประกอบด้วยไม้ตะเคียนทอง ไม้แดง จากลาว พม่าและไม้ไทยบางส่วน มีการแกะสลักละลายปูนปั้นทั้งภายนอกและภายในพระวิหารอย่างละเอียดวิจิตรบรรจงสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นหน้าจั่ว เชิงเพดานหลังคาทุกด้าน ประตู หน้าต่าง เสาพระวิหาร จะมีลายแกะสลักลงรักปิดทองทั้งสิ้น


วิหารพระเขียวโขงเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธอัญญรัตนมหา- นาทีศรีหริภุญชัย หรือ พระเขียวโขง เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากหินแม่น้ำโขง บ้านดอนมหาวัน ใกล้กับประเทศลาว มีสีเขียวอมดำเนื้อละเอียด ขนาดหน้าตักกว้าง 19 นิ้ว อัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 การสร้างวิหารหลังนี้เชื่อมโยงกับตำนานผางประทีป ตำนานเริ่มต้นการตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 5 พระองค์ ของ 5 พี่น้อง โดยมีเนื้อเรื่องว่ามีกาเผือกตัวหนึ่งออกไข่มา 5 ฟอง อยู่มาวันหนึ่งเกิดฝนตกลมแรงทำให้รังที่อยู่บนต้นไม้ตกลงไปในแม่น้ำ แม่กาเผือกก็ตายไป ส่วนไข่ 5 ฟองก็กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ฟองที่ 1 มีแม่ไก่นำไปฟักเลี้ยง ฟองที่ 2 นางพญานาคนำไปกกด้วยความรัก ฟองที่ 3 แม่เต่านำไปเลี้ยงดู ฟองที่ 4 แม่โคนำไปเลี้ยง และฟองที่ 5 หญิงชาวบ้านได้นำไปฟักไว้ ต่อมาไข่ทั้ง 5 ฟองก็ฟักออกมาเป็นเด็กชาย 5 คน และเป็นที่มาของพระเจ้า 5 พระองค์นั่นเอง


พระวิหารเขียวโขงเมื่อมองจากด้านหน้าจะมีหลังคา 5 ชั้น มีช่อฟ้า 5 ตัว หมายถึงพระเจ้า 5 พระองค์ ด้านหลังอีก 3 ตัว หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา คือการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเพื่อเดินเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อรวมด้านหน้ากับด้านหลังจะเป็น 8 หมายถึง มรรค 8 ต้องปฏิบัติตามทางสายกลางได้ธรรมมัชฌิมา ส่วนตรงกลางหลังคาพระวิหารมีเรือหงส์ มีฉัตรอยู่ หมายถึงโลกุตตรธรรม หรือ นิพพาน ความสงบดับเย็นจากกิเลสตัณหา ด้านล่างพระวิหารมีรูปปั้นผางประทีป เปรียบเหมือนรังกาและมีกาเผือกนอนอยู่ในรัง มีรูปพรหมสี่หน้านั่งอยู่บนหลังกา หมายถึงกำเนิดตำนานผางประทีป แม่กาเผือกตายแล้วไปเกิดเป็นท้าวสกุณาวกาพรหม บนราวบันใดมีรูปปั้นของไก่ หมายถึงแม่ไก่ที่เอาไข่ฟองที่ 1ไปฟักไว้จนเกิดลูกชายคนโต และได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์แรกมีพระนามว่า กกุสันโธ พระพุทธเจ้าลูกแม่ไก่ ถัดลงมาด้านล่างมีรูปปั้นนาคแผ่พังพาน 5 ตัว หมายถึงแม่พญานาคที่เอาไข่ฟองที่ 2 ไปเลี้ยงและได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 2 มีพระนามว่า โกนาคะมะโน พระพุทธเจ้าลูกแม่นาค ในรูปปั้นนั้นพญานาคนั่งอยู่บนหลังเต่า หมายถึงแม่เต่าที่เก็บเอาไข่ฟองที่ 3 ไปเลี้ยงและได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 3 มีพระนามว่า กัสสะโป พระพุทธเจ้าลูกแม่เต่า ถัดมาด้านซ้ายและด้านขวามีรูปปั้นโคนอน หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 4 แม่โคเอาไปเลี้ยง มีพระนามว่า โคตะโม พระพุทธเจ้าลูกแม่โค สูงขึ้นไป มีรูปเทวดาคู่ยืนอยู่ที่ซุ้มประตู หมายถึงหญิงชาวบ้านที่เก็บไข่ฟองที่ 5 ไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ และได้จุติเกิดมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ที่ 5 คือ พระพุทธเจ้าศรีอริยะเมตไตรย ซึ่งในขณะนี้ยังเสวยสุขอยู่ในเทวโลก รอการสิ้นอายุพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า โคตมะ 5,000 ปีผ่านไปก็จะลงมาจุติ


ภายในพระวิหารพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัยมีมณฑปทรงล้านนา ด้านล่างประดิษฐานพระพุทธเมตไตรจำลองจากพุทธคยาตอนที่พระพุทธเจ้าโคตมะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ภายในวิหารยังมีมณฑปพระเขี้ยวแก้วซึ้งเป็นพระเขี้ยวแก้วของพระมหาสารีบุตร พระพุทธรูปแก้วขาวเสตังมณีของเก่าเมืองลำพูน รวมทั้งพระเครื่องสกุลหริภุญชัยที่หาชมได้ยาก หอประดิษฐานระฆังหลวงเนื้อสำริด วิหารครอบรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอยและพระนิลสมุทร (พระแร่เกาะล้าน) พระนอน (ปางปรินิพพาน) ด้วยหยกสีขาวพร้อมฐานชุกชี

ไปลำพูนคราวหน้าต้องไม่พลาดปักหมุดไว้ที่ วัดสันป่ายางหลวง ความวิจิตรงดงามของวัดล้านนาแห่งนี้นะคะ

 

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคภาคเหนือ และ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง