ตามรอยเท้าพ่อ…ยกระดับคุณภาพชีวิต พลาสติกกับโครงการหลวง
“โครงการหลวง” เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น โครงการหลวงแห่งแรกคือ “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” หรือ “โครงการหลวงอ่างขาง” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 เป็นสถานที่ทดลอง ค้นคว้า และวิจัยพืชผัก ผลไม้ และไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวไทยภูเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพแทนการปลูกฝิ่น ที่จะทำให้ชาวไทยภูเขามีรายได้มากขึ้น ตามแนวพระราชดำริที่ว่า “ให้เขาช่วยตัวเอง”
ในปี 2535 โครงการหลวงได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ภายใต้ชื่อใหม่ "มูลนิธิโครงการหลวง" ปัจจุบันโครงการหลวง ดำเนินงานใน 8 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน มีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการ จำนวน 21 ศูนย์ และหมู่บ้านพัฒนาอีก 6 หมู่บ้าน รวมหมู่บ้านในเขตปฏิบัติการทั้งสิ้น 267 หมู่บ้าน
ผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผักปลอดภัยสารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ เห็ด ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากแฝก ไม้กระถาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อการค้า โครงการหลวง และดอยคำ
อย่างไรก็ตามการพัฒนาภาคการเกษตรที่ขยายตัวส่งผลให้มีการใช้พลาสติกมากขึ้นตามไปด้วยทั้ง ถุงเพาะเนื่องจากราคาถูก ถุงปลูกทั้งราคาถูกแล้วยังมีน้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายสะดวก พลาสติกคลุมดินลดการใช้ยาปราบวัชพืช พลาสติกคลุมโรงเรือนลดการสูญเสียผักเนื่องจากฝน ผลของการใช้อย่างกว้างขวางทำให้พลาสติกทีใช้แล้วถูกทิ้งอยู่ทั่วไปทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเฉพาะโครงการหลวงเองมีการใช้พลาสติกชนิดต่างๆ ตั้งแต่เพาะพันธุ์กล้าไม้และผัก แปลงเพาะลูก บรรจุภัณฑ์ โดยมีการใช้พลาสติกทุประเภทกว่า 230,000 กิโลกรัมต่อปี(ข้อมูลปี2555)ซึ่งบางส่วนตกค้างอยู่ในพื้นที่โครงการหลวง
ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดที่จะทำให้ถุงพลาสติกเหล่านี้เป็นถุงที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้อย่างสมบูรณ์ จึงนำมาซึ่งความร่วมมือของ 3 ฝ่ายคือ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันพัฒนาพลาสติกเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรตลอดจนถึงการนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับผลผลิตทางการเกษตรโดยได้กำหนดกรอบแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี(พ.ศ.2557-2561) โดยแบ่งเป็นความร่วมมือคือ
โครงการหลวง สนับสนุนให้ใช้แปลงทดลองโครงการเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทดสอบการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมต้นกล้า การเพาะปลูก และบรรจุภัณฑ์มาใช้กับผลิตภัณฑ์ของโครงการ สนับสนุนการขยายผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริงกับเกษตรกร ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับสมาชิกเกษตรกรของโครงการหลวง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) รับผิดชอบในการบริหารโครงการวิจัย คัดเลือกนักวิจัย ที่ปรึกษาและผู้ประสานงานรวมทั้งติดตามการดำเนินการของโครงการวิจัยให้เป็นไปตามกรอบการทำงานและวัตถุประสงค์
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) ให้การสนับสนุนงบประมาณในการวิจัย รวมทั้งเม็ดพลาสติกของบริษัทฯเพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นพลาสติก และพัฒนาสูตรร่วมกับที่ปรึกษาด้านงานวิจัยเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิต รวมทั้งวิจัยร่วมกับโครงการหลวงโดยใช้เทคโนโลยีบริษัทฯ
การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกในระยะเริ่มแรกมีจำนวน 5 ชนิด ได้แก่พลาสติกคลุมโรงเรือน ถุงบรรจุผักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถุงยืดอายุผลิตผลทางการเกษตร ถุงปลูกถุงเพาะพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้และถาดสลัดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ โดยพลาสติกคลุมโรงเรือน ถุงบรรจุผักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและถุงยืดอายุผลิตผลทางการเกษตร ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ PTTGC ที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์(Carbon Footprint)บ่งบอกถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์
พลาสติกคลุมโรงเรือน PTTGC พัฒนาขึ้น มีความแข็งแรง ทนทาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและคุณภาพของผลิตผลภายในโรงเรือน ส่วนถุงบรรจุผักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังคงคุณสมบัติความเหนียวและความแข็งแรงได้เทียบเท่าถุงบรรจุผักสดทั่วไป และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกได้ถึง 25% โดยถุงยืดอายุผลิตผลทางการเกษตร มีคุณสมบัติในการควบคุมการซึมผ่านของก๊าซ ทำให้ยืดอายุเฉลี่ยของผักและผลไม้ให้ยาวนานขึ้นได้ประมาณ 1 เท่าเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์ทั่วไป
สำหรับถุงปลูกถุงเพาะพลาสติกชีวภาพและถาดสลัดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ผลิตจากพลาสติกประเภท PLA (Polylactide) ซึ่งเกิดจากการนำข้าวโพดมาผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพจนได้เป็นเม็ดพลาสติกถุงปลูกถุงเพาะชนิดนี้สามารถย่อยสลายได้ในสภาพแวดล้อมปกติภายใน 180 วันทำให้สามารถนำกล้าไม้ไปปลูกลงดินได้โดยไม่ต้องแกะถุงออก ส่วนถาดสลัดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้นั้น มีการพัฒนารูปแบบขึ้นเพื่อความสะดวกในการรับประทานสลัดผัก และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับถุงปลูกถุงเพาะ
นอกจากการสนับสนุนให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 ชนิดข้างต้น PTTGC ยังร่วมมือกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2557 จัดฝึกอบรมการสร้างโรงเรือนต้นทุนต่ำ การใช้พลาสติกคลุมโรงเรือนและถุงปลูกถุงเพาะเพื่อปลูกผักอย่างถูกวิธีให้แก่โรงเรียน 31 แห่ง และ 6 ชุมชนในพื้นที่เขตปฏิบัติการของมูลนิธิโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ทำให้มีการก่อสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่รวมทั้งสิ้น 44 โรง โดยผักที่ปลูกในโรงเรือนของโรงเรียนจะนำมาใช้ประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน ทำให้เด็กๆ ได้รับประทานผักปลอดสารพิษที่ปลูกขึ้นเอง ส่วนผักที่ปลูกโดยชุมชน ถือเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับถุงบรรจุผักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและถาดสลัดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ มูลนิธิโครงการหลวงได้นำไปใช้บรรจุผลิตผลเกษตรและวางจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั่วประเทศ
“โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง” นับเป็นตัวอย่างของการเดินตามรอยเท้าพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมไทยแล้วยังถือเป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ที่นำความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของบริษัท มาช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเช่นนี้เชื่อว่าสังคมไทยจะมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืนแน่นอน