การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดกิจกรรมเที่ยวสงกรานต์อีสาน...แซ่บนัว
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดกิจกรรมเที่ยวสงกรานต์อีสาน...แซ่บนัว
ร่วมประเพณีทำบุญตรุษสงกรานต์ และพิธีเสียเคราะห์ แบบโบราณอีสาน ณ วัดไชยศรี บ้านสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 13 เมษายน ในงานนี้ คุณสมฤดี จิตรจง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เชิญ อาจารย์คฑา ชินบัญชร ร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย
สงกรานต์สำหรับชาวอีสานโดยเฉพาะชุมชนสาวะถี คือวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีที่ยึดถือสืบทอดปฎิบัติกันมาแต่โบราณ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี และยังเป็นวันที่ญาติมิตรกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อพบปะกันอย่างพร้อมหน้า เพื่อจะได้ทำบุญประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อศรัทธาและทางศาสนาร่วมกัน เช่นการทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ การขนทรายเข้าวัด การเล่นสาดน้ำ การรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
ด้วยความเชื่อและยึดถือปฎิบัติมาแต่ดั้งเดิมของชาวชุมชนสาวะถี ทำให้ทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นประเพณีสงกรานต์ ได้เกิดพิธีกรรมที่สืบถอดกันมานับร้อยๆ ปีที่ศูนย์รวมศรัทธาชุมชนคือ วัดไชยศรี ได้แก่ พิธีเสียเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ตามแบบโบราณอีสาน มีความเชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมที่จะปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี เพิ่มความเป็นสิริมงคล เสริมดวงชะตา โดยผู้ที่ได้ร่วมพิธีจะประสบพบแต่สิ่งที่ดีในชีวิต
เครื่องสังเวยหรือเครื่องเสียเคราะห์เพื่อบูชาพระเคราะห์ให้หายเคราะห์ สิ่งแรกที่ขาดไม่ได้คือ เทียนตามแบบโบราณกำหนดและสิ่งของอื่นๆ เช่น ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเหลือง ข้าวตอก ดอกไม้ น้ำส้มป่อย ทุ่งช่อ ทุ่งชัย ฝ้ายแดง ฝ้ายดำ ฝ้ายขาว ฝ้ายเหลือง ด้ายสายสิญจน์รอบโทงสิ่งของทั้งหมดนี้จะนำใส่ลงโทง 4 แจ (4 เหลี่ยม) ขนาดกว้างยาวประมาณ 1 ศอก ทำจากกาบกล้วยแล้วคั่นแยกออกเป็น 9 ห้องด้วยกาบกล้วยเช่นกัน
ชาวบ้านสาวะถีจะร่วมกันประกอบพิธีนี้ที่สิมหรือโบสถ์วัดไชยศรี โดยมีพระเถระที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นผู้นำในการทำ ชาวบ้านจะนำโทง 4 แจที่เตรียมไว้แล้วเข้าไปนั่งในบริเวณพิธีภายในกำแพงสิม ส่วนพระภิกษุจะเข้าใปสิม ไหว้พระทำวัตร มีการเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลเบื้องต้น เสร็จแล้วเจ้าอาวาสจำนำกล่าวคำอาราธนาพระพุทธรูปในสิม จากนั้นทุกคนต้องจุดเทียนประจำโทง 4 แจ แล้วพระเถระที่ชำนาญในพิธีกรรมจะกล่าวคำเสียเคราะห์ อันเป็นภาษาอีสานตามตำราโบราณที่สืบทอดกันมานานนับร้อยนับพันปี
คำว่าเสียเคราะห์ เป็นการกล่าวบูชาเทวดา ภูติผีเจ้าชะตา ให้ลงมาเอาเครื่องบูชาที่เตรียมไว้ ให้เคราะห์หายไปจากเจ้าของเครื่องเสียเคราะห์ มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ไร้โรคาพยาธิประสบความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป เมื่องกล่าวคำเสียเคราะห์จบลง ก็จะจุดสายสิญจ์รอบโทง 4 แจ จากนั้นทุกคนจุถือโทง 4 แจที่ใช้ในพิธีเสียเคราะห์ไปทิ้งในสถานที่ที่กำหนดไว้ เมื่อทิ้งแล้ว ห้ามมิให้หันกลับไปดูโทงนั้นอีก โบราณถือว่า เมื่อทิ้งสิ่งไม่ดีแล้วก็ให้ตัดใจไม่ข้องแวะอีก
ดังนั้น คำว่าประเพณีสงกรานต์หรือการเล่นสงกรานต์ตามประเพณี ในความหมายของวิถีของชุมชนสาวะถีและวัดไชยศรี จึงไม่ได้หมายถึงแค่การทำการเล่นไปโดยไร้หลักไร้แก่นสารประโยชน์ แต่เป็นการดำเนินไปภายใต้จารีตประเพณีที่ดีงาม ที่ได้หล่อหลอมสืบทอดความเป็นวัดและชุมชนมาอย่างยาวนาน
และในช่วงเย็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว ที่มาร่วมงานพิธีเสียเคราะห์ ณ โรงแรมราชาวดี มีจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ พร้อมชมการแสดงดนตรีพื้นเมืองการเซิ้งและฟ้อนรำของชาวอีสานที่สวยงามอลังการ จากนักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ในช่วงการรับประทานอาหารมื้อค่ำ อาจารย์คฑา ชินบัญชร ได้ให้ความรู้ในการทำบุญ ตามพระธาตุประจำวันเกิดแก่แขกที่มาร่วมงานด้วย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1600 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพ ฯ 10400
โทร 02 250 5500
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น
โทร 043 227 714-5
www.เที่ยวอีสาน.com