ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เขตป่าชายเลน บ้าน “คลองโคน”
จากแนวคิดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการให้ความสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในแบบยั่งยืน โดยนำเสนอแนวความคิด 7 Greens คือ Green Heart : เที่ยวด้วยใจคิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, Green Logistics : เที่ยวใกล้ไกลเลือกใช้ (พาหนะ) พลังงานสะอาด, Green Attraction : จัดการแหล่งท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงความยั่งยืน, Green Activity : เลือกกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, Green Community : เที่ยวอย่างรู้คุณค่ารักษาเอกลักษณ์ชุมชน, Green Service : จัดการธุรกิจ ตระหนักคิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, Green Plus : จิตอาสา พาโลกสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม
a world connect ฉบับประจำเดือนกันยายนนี้ ทางกองบก. จึงอยากชวนคุณๆ ไปรู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง ต่อแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ที่เราจะกล่าวถึงก็คือ “คลองโคน” จังหวัดสมุทรสงคราม
จำได้ว่า...เมื่อหลายปีก่อน สมัยที่ยังเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ขณะนั้น “คลองโคน” ยังเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ประกอบอาชีพทำการประมง เลี้ยงหอย จับกุ้ง จับปลาตามวิถีชุมชนริมป่าชายเลน แทบจะไม่มีใครรู้จัก ขณะนั้นชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องราคาหอยแมลงภู่และขนาดของหอยแมลงภู่ที่มีขนาดเล็กลง เพราะสภาพป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลายเพื่อทำนากุ้ง จนทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ร่อยหรอ อาชีพประมงพื้นบ้านของคนในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต ไม่สามารถเลี้ยงชีพต่อไปได้ แต่ละครอบครัวหาทางออกด้วยการเริ่มทิ้งถิ่นฐานเดิมไปหางานทำในแหล่งงานต่างถิ่น
ด้วยหน้าที่การงาน ทำให้ฉันมีโอกาสได้รู้จักกับ “คลองโคน” จากคำเชิญชวนของ คุณรังสิมา รอดรัศมี สส. จังหวัดสมุทรสงคราม ที่พาลงพื้นที่เพื่อให้ไปเยือนบริเวณป่าชายเลนและกระเตงเรือนพักกลางน้ำของผู้เพาะเลี้ยงหอย ให้เที่ยวชมและสัมผัสกับป่าชายเลน และท้องทะเลที่สวยงาม ครั้งนั้น คุณรังสิมา เอ่ยถึงความพยายามที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณป่าแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นอกจากจะเพื่อการอนุรักษ์แล้วยังทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนพัฒนาวิถีชีวิตและให้ชาวบ้านได้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้
หลังการนำเสนอภาพบรรยากาศและบทความเกี่ยวกับ “ป่าชายเลนคลองโคน” จังหวัดสมุทรสงคราม เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน หลายสิ่งเริ่มเปลี่ยนแปลง ...มีการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมถึงผู้คนในชุมชนบางส่วนต่างตื่นตัว ต่างเตรียมพร้อมทั้งต้อนรับนักท่องเที่ยวและร่วมแรงร่วมใจพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างน่าสนใจ มีการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบขึ้น
ปี 2534 ผู้ใหญ่ชงค์ หรือ “คุณไพบูลย์ รัตนพงศ์ธระ” เริ่มกิจกรรมการปลูกป่าชายเลนบ้านคลองโคนขึ้น โดยร่วมกับชาวชุมชนตำบลคลองโคน ซ่อมแซมและชดเชยป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกทำลาย จนป่าชายเลนเริ่มฟื้นสภาพและความอุดมสมบูรณ์ได้กลับคืนมาอีกครั้ง สัตว์น้ำชายฝั่งที่สูญหายไปก็ค่อยๆ กลับมาอุดมสมบูรณ์
ช่วงแรกๆ ของการเริ่มปลูกป่าชายเลนต้องประสบกับปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการคัดเลือกพันธุ์ไม้ การอยู่รอดของต้นไม้หลังปลูก แต่ด้วยการเห็นความสำคัญของผู้ใหญ่และ ชาวบ้านที่ยังคงยืนหยัดที่จะสู้ด้วยการเดินหน้าปลูกป่าต่อไป จนกระทั่งหน่วยงานของรัฐเริ่มให้ความสนใจ
และที่ถือเป็นความปลาบปลื้มให้กับ ชาวบ้านอย่างล้นพ้นคือ การได้รับพระมหา กรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นความสำคัญของการปลูกป่าชายเลนคลองโคน ได้เสด็จมาปลูกป่าด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ. 2540, 2541, 2542, 2545 และ 2547 ส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนคลองโคนกลับฟื้นขึ้นมาเขียวขจีอีกครั้งเกิดความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำชายฝั่งมากมาย ช่วยปลุกวิถีการทำประมงพื้นบ้านชายฝั่งให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมไปถึงอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กลุ่มกระเตง (ขนำกลางทะเล) กลุ่มชาวเรือ กลุ่มทำอาหาร ทำให้ชุมชนมีรายได้เสริม
“คุณเชษฐ์-พีร์นิธิ รัตนพงศ์ธระ” ลูกชาย ผู้ใหญ่ชงค์ ที่ปัจจุบันมาดูแลศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน คลองโคนและผู้ใหญ่ชงค์โฮมสเตย์ เล่าว่า ที่นี่มีความหลากหลาย มีความเป็นชุมชน ที่ชาวชุมชนช่วยกันสร้างป่ามาด้วยกันทำกันเองตั้งแต่ปี 2546–2547 ซึ่งพ่อปลูกตั้งแต่ปี 34 ไม่ได้มีงบอนุรักษ์เข้ามา จนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้เอาเงินจากภาครัฐเลย เราบริหารจัดการโดยคนในชุมชนเองทั้งหมดเพื่อกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ช่วยกันฟื้นฟูกันตั้งแต่ปี 2550 ที่เราทำไม่ใช่เพียงเพื่อการอนุรักษ์ แต่เป็นการ “ปลูกป่าให้แผ่นดิน” เพื่อให้เป็นของหลวง เพียงแต่เราจัดด้านการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนการดูแลป่า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ที่นี่ทั้ง 400 กว่าครัวเรือน แต่ละคนจะช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม 80% เป็นชาวบ้านที่เกิดที่นี่”
และเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยียนบ้าน คลองโคน รวมถึงได้สัมผัสกับธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงร่วมกันทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน กิจกรรมการท่องเที่ยวป่าชายเลนจึงถูกจัดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ การเรียนรู้ระบบนิเวศน์แถบป่าชายเลนที่ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน มีการบรรยายและนำโปรแกรมท่องเที่ยวโดยชุมชน
หลังจากนั้นสามารถเช่าเรือเพื่อล่องชมระบบนิเวศน์ป่าชายเลนที่มีพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ มีกิจกรรมแวะชมลิงแสม ชมวิถีชีวิตริมน้ำ ชมการแถกกระดานเลนเก็บหอยแครง ล้อมกล่ำปลาดุก และรอเคยเพื่อทำกะปิคลองโคน
ส่วนที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นการได้แวะทานอาหารทะเลพื้นบ้านที่ชาวบ้านจัดให้ตามต้องการ โดยนั่งกันบนกระเตงกลางทะเล ให้บรรยากาศที่แปลกใหม่และน่าสนใจทีเดียว
รวมถึงการแวะฟาร์มหอยนางรมและหอยแมลงภู่ การแถกเรือบนเลนและร่วมปลูกป่าชายเลน แต่หากต้องการเล่นสกีกระดานเลน ก็สามารถติดต่อชาวบ้านในละแวกนั้นที่ให้บริการได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหมานั่งเรือหางยาว ซึ่งจุประมาณ 5 คนต่อลำจะเหมารวมกับกิจกรรมตามความต้องการ ปัจจุบันมีรีสอร์ทและโฮมสเตย์ที่น่าสนใจเปิดให้บริการ จะท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือจะค้างคืนสัมผัสธรรมชาติอย่างเต็มอิ่มก็สามารถทำได้
ปกติการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ป่าชายเลนแห่งนี้ สามารถเดินทางได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่ควรเช็คเวลาของน้ำขึ้นและน้ำลงจะทำให้ได้สัมผัสกับบรรยากาศและกิจกรรมที่แตกต่างกัน ช่วงเวลาที่บรรยากาศดีและเหมาะสมกับการท่องเที่ยวมากที่สุดคือช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม เพราะอากาศดี แต่ถ้าเน้นด้านกิจกรรมเช่นแถกกระดานเลนเก็บหอยแครงจะเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน
ปัจจุบัน คลองโคน ยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากชาวบ้านในชุมชน ทุกคนต่างตระหนักถึงคุณค่าของป่าชายเลน คุณค่าของธรรมชาติ ความสำคัญของการเอื้ออาทรต่อกันระหว่างป่าชายเลนกับชุมชน ตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันของป่าและมนุษย์ นั่นทำให้ชุมชนแห่งนี้ ได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยว ในโครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ในปี 2550 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
“ตราบใดที่มนุษย์ยังรักษ์ป่า ป่าก็ยังคงให้มนุษย์ตลอดไปอย่าง...ยั่งยืน”