ปั่นเท่ๆ เที่ยวฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ

ในปัจจุบันเป็นยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น หลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย หนึ่งในกิจกรรมที่นิยมกันอย่างแพร่หลายคือ การปั่นจักรยานท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้วยังช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ได้ชื่นชมกับวิวธรรมชาติสองข้างทาง สูดอากาศบริสุทธิ์ รวมทั้งมิตรภาพดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการปั่นจักรยานด้วย


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานฉะเชิงเทรา (ดูแลฉะเชิงเทรา-สมุทรปราการ) ขอเชิญชวนท่านที่รักสุขภาพ และรักการท่องเที่ยวมาร่วมปั่นจักรยานท่องเที่ยวในคอนเซ็ปต์ “ปั่นเท่ๆ เที่ยวฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ” ในสองบรรยากาศกับสองจังหวัดที่จะทำให้ท่านได้เพลิดเพลินและประทับใจกับการปั่น

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา เราจะนึกถึงบรรยากาศเมืองแห่งสายน้ำบางปะกง วิถีชีวิตริมฝั่งน้ำที่เต็มไปด้วยความสงบ “หลวงพ่อโสธร” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวแปดริ้ว อาหารอร่อยเลิศรส เมืองส่งออกผลไม้รสชาติดีของประเทศ นอกจากของดีเหล่านี้แล้ว ฉะเชิงเทรายังมี “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เป็นศูนย์เรียนรู้ การค้นคว้า วิจัย และสาธิตทางการเกษตร เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป ท่ามกลางสวนเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าสวนเกษตรที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์แห่งพืชผล มีต้นไม้ใหญ่น้อยร่มรื่นตลอดเส้นทาง บนพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้เกิดจากการพลิกฟื้นผืนดินของโครงการในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จ- พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถ-บพิตร จากพื้นดินที่เสื่อมโทรม รกร้างแห้งแล้งเป็นดินทรายที่ไม่สามารถปลูกพืชใดๆ ได้ กลับมาเป็นสวนป่า อ่างเก็บน้ำ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไปในปัจจุบันนี้ และวันนี้เราขอพาท่านไปปั่นจักรยานท่องเที่ยวเชิงเกษตรลัดเลาะไปตามเส้นทางภายในศูนย์ฯ ชื่นชมกับธรรมชาติที่สงบ ร่มรื่น แวะชมโครงการต่างๆ ภายในศูนย์การเรียนรู้กันค่ะ

 

กล่าวย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรพร้อมใจกันถวายที่ดินจำนวน 264 ไร่ เพื่อให้ทรงสร้างพระตำหนักทรงงาน เนื่องจากที่ดินผืนนี้เป็นพื้นที่เสื่อมโทรมไม่สามารถเพาะปลูกได้แล้ว พระองค์ได้ทรงรับไว้แต่ขอไม่สร้างพระตำหนัก แต่จะสร้างเป็นศูนย์ศึกษาพัฒนาด้านการเกษตรกรรมแทน ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ทรงใช้เวลากว่า 15 ปี รวบรวมองค์ความรู้เรื่องดินและน้ำมาพลิกฟื้นผืนดินที่นี่ให้กลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์จนสามารถเพาะปลูกได้อีกครั้ง และจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเกษตรกรรมที่ได้ศึกษาวิจัยและทดลองจนประสบความสำเร็จให้กับเกษตรกร นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน ปัจจุบันนับเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตรที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาเพื่อพักผ่อนและเยี่ยมชมพระอัจฉริยภาพทางด้านเกษตรกรรมของพระองค์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมตามแผนผังของโครงการได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

เราเริ่มต้นการปั่นสองล้อ ณ จุดแรกที่ ห้วยเจ็ก เมื่อเข้ามาภายในศูนย์ฯ จะเห็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่โดดเด่นอยู่กลางพื้นที่ของศูนย์ฯ เป็นอ่างเก็บน้ำแห่งแรกที่พระองค์พระราชทานเงินที่ราษฎรน้อมเกล้าฯถวายจัดสร้างขึ้นบนพื้นที่ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ดินปลูกผักของเจ๊ก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 และพระราชทานชื่อว่า ‘ห้วยเจ็ก’ นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว พื้นที่โดยรอบอ่างเก็บน้ำเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย นำพาความร่มรื่น มีนกบินโฉบปลาเหนือผิวน้ำไปเกาะตามก้อนหินขนาดใหญ่ที่อยู่กลางอ่าง ลมพัดเป็นระลอก มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มาใช้เวลากับการพักผ่อน มาปิกนิก ลงเล่นน้ำในห้วยเจ็กกันอย่างสนุกสนาน 

เราปั่นต่อมาเพื่อแวะเยี่ยมชมต้นไม้ของพ่อ ต้นโพศรีมหาโพธิ ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นชื่นใจให้ร่มเงาเป็นวงกว้างริมอ่างเก็บน้ำห้วยเจ็ก ต้นโพธิ์นี้นำพันธุ์มาจากประเทศอินเดียทรงปลูกไว้เป็นสัญลักษณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินมายังศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ต้นไม้ต้นแรกที่หยั่งรากลงบนผืนแผ่นดินเขาหินซ้อนจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 39 ปีแล้ว


จากต้นโพศรีมหาโพธิปั่นไปกันต่อที่ พระตำหนักสามจั่ว พระตำหนักริมน้ำห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่บรรยากาศเงียบสงบ ให้ความรู้สึกสดชื่นและผ่อนคลาย ได้ยินเสียงลมพัดกระทบใบไม้ นกร้องก้องไปทั่วบริเวณ พระตำหนักแห่งนี้พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น เพื่อเป็นบ้านพักรับรองในพื้นที่ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ลักษณะเป็นเรือนไทยแบบภาคกลาง 2 ชั้น ใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว ตัวเรือนเป็นไม้แดง ความพิเศษคือทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง โดยใช้วิธีการเข้าลิ่มแบบบ้านโบราณ ไม่มีการตอกตะปู ชั้นบนเป็นที่ประทับห้องพระบรรทมที่มีเครื่องเรือนง่ายๆ เพียงไม่กี่ชิ้น ชั้นล่างปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการขณะทรงงานที่ศูนย์ฯ ฝั่งตรงข้ามเป็นศาลาที่ประทับริมน้ำเปิดโล่งใช้เป็นที่เข้าเฝ้าฯ ถวายงาน ด้านข้างมีต้นไม้ทรงปลูก ‘ไทรย้อยใบแหลม’ แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ทำให้บริเวณแห่งนี้ เต็มไปด้วยความร่มรื่นเย็นสบาย



หลังจากพักเหนื่อยกับบรรยากาศร่มรื่นของพระตำหนักแล้ว เรามุ่งหน้าไปยัง “พลับพลาพระราม” ชื่นชมกับพันธุ์ไม้สองข้างทางที่เราปั่นผ่านทั้งไม้ดอกที่กำลังชูช่อไสว อาทิ ลั่นทม พวงคราม ดาวกระจาย ปั่นผ่านสะพานแขวนห้วยน้ำโจนตรงไปเรื่อยๆ ก็จะเจอพลับพลาพระราม เป็นที่ประทับซึ่งราษฎรอำเภอพนมสารคามพร้อมใจกันสร้างเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อใช้เป็นอาคารรับเสด็จฯ ที่ประทับและอาคารทรงงาน ตัวเรือนทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง บริเวณหน้าพลับพลาจัดเป็นสวนขนาดใหญ่ที่ตัดแต่งอย่างงดงาม มีต้นปาล์มแชมเปญที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงปลูกไว้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2524 บริเวณนี้เป็นอีกจุดหนึ่งของศูนย์ฯ ที่สวยงามมาก โดยมีนักท่องเที่ยวจะแวะเวียนมาเยี่ยมชมอยู่เสมอ


จุดสุดท้ายที่เหล่านักปั่นจะพลาดไม่ได้คือ แปลงสาธิต ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวคิดการทำเกษตรแบบผสมผสานที่ให้ผลดีกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยปกติจะแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นแหล่งน้ำใช้เป็นบ่อเลี้ยงปลาและเก็บกักน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกตลอดทั้งปี ส่วนที่ 2 สำหรับปลูกข้าว และส่วนที่ 3 สำหรับปลูกพืชผสมผสาน ซึ่งประโยชน์จากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มรายได้ และเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้ทำกินอย่างเต็มประสิทธิภาพ สำหรับแปลงสาธิตการเกษตรทฤษฏีใหม่เป็นตัวอย่างสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ประมาณ 10-15 ไร่ เน้นการปรับปรุงโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก


ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากการปั่นจักรยานเพื่อพักผ่อน ออกกำลังกาย ดื่มด่ำและชื่นชมกับธรรมชาติแล้ว จะเห็นได้ว่าที่นี่เป็นขุมทรัพย์แห่งภูมิปัญญาที่ยังประโยชน์อย่างมหาศาล ส่งต่อสืบทอดยังลูกหลานอย่างประเมินค่าไม่ได้ ต่อยอดต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 การได้มาปั่นจักรยานในครั้งนี้ทำให้เราได้อะไรกลับไปมากกว่าที่คิด มีความหมายมากกว่าที่เห็น เป็นการได้สัมผัสถึง ‘พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต’ ห้องเรียนธรรมชาติอันเกิดจากศาสตร์แห่งพระราชา รับรู้ถึงน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาที่พระองค์ท่านมีต่อราษฎรในพระองค์โดยแท้

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร.0 3859 3105-6 , 0 3855 4982
เปิดบริการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-16.30 น.
(ในส่วนของหน่วยงานต่างๆ)
หมายเหตุ : นักท่องเที่ยวนำจักรยานไปเอง
เนื่องจากทางศูนย์ฯ มีบริการเฉพาะรถรางนำเที่ยว
การเดินทางด้วยรถยนต์ : จากตัวอำเภอเมืองฉะเชิงเทราให้ใช้ ถนนหมายเลข 365 (ถนนเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา) ถึงสี่แยกคอมเพล็กซ์ ขับตรงเข้าสู่ถนนหมายเลข 304 ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี จนถึงกิโลเมตรที่ 53
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนจะอยู่ด้านขวามือ

 

หากท่านกำลังมองหาแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในวันสบายๆ เราขอแนะนำให้มาเที่ยวที่ บางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ การเดินทางสะดวกสบาย บางน้ำผึ้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าคุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง ที่นี่เปรียบเสมือนปอดของชาวกรุงเทพฯ เป็นแหล่งผลิตโอโซนอันดับ 7 ของโลกเลยทีเดียว

 


แม้กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าโลกหมุนเร็วเพียงใด แต่บางน้ำผึ้ง ชุมชมริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ยังคงสงบ ชาวบางน้ำผึ้งส่วนใหญ่ยังคงดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายแห่งวันวาน ดูไปแทบไม่น่าเชื่อว่าชุมชนแห่งนี้จะอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่ไม่ไกลจากมหานครอย่างกรุงเทพฯ ตลอดทางเดินคอนกรีตที่ทอดยาวภายในชุมชนเต็มไปด้วยความร่มรื่นของร่มเงาจากต้นไม้สองข้างทาง วิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ชุมชนพึ่งพาอาศัยกันดุจเครือญาติ พาหนะคู่ใจของชุมชนบางน้ำผึ้งที่จะพาเราซอกแซกไปได้ทุกจุดหมายของที่นี่คือ จักรยาน ซึ่งถือเป็นพระเอกของงานนี้


การปั่นจักรยานเที่ยวรอบบางน้ำผึ้งนับเป็นกิจกรรมที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายของนักท่องเที่ยว บริเวณโดยรอบของบางน้ำผึ้งจะมีบริการให้เช่าจักรยานมากมายเพียงพอกับความต้องการ สนนราคาค่าเช่าคันละ 50 บาท ปั่นได้ทั้งวันไม่จำกัดเวลา บางร้านจะแถมน้ำดื่มและผ้าเย็นให้ด้วย สำหรับการเดินทางมาที่นี่นอกจากทางรถยนต์แล้วยังสามารถใช้บริการเรือโดยสารข้ามฝากที่ท่าเรือวัดบางนานอก ฝั่งกรุงเทพฯ มายังท่าเรือวัดบางน้ำผึ้งนอก ซึ่งเรือโดยสารข้ามฟากนี้สามารถนำรถจักรยาน จักรยานยนต์ข้ามฝั่งมาได้ด้วย


เราเริ่มต้นปั่นสองล้อเที่ยวบางน้ำผึ้งกันที่ วัดบางน้ำผึ้งนอก วัดเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี กราบนมัสการหลวงพ่อใหญ่ เพื่อความเป็นศิริมงคล ชมภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถหลังเก่า ชมทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อากาศสดชื่นมาก มีศาลาริมน้ำให้นั่งเล่นชมวิว ลมเย็นๆ พัดมาตลอดเวลา ไหว้พระขอพรเสร็จเราก็ปั่นไปตามเส้นทางคอนกรีตขนาดไม่กว้างมากนัก รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ คนในชุมชนใช้สัญจรภายในชุมชน บรรยากาศเย็นสบายสองข้างทางโอบล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย และดงต้นจาก มีเสียงนกร้องเป็นระยะๆ ตลอดเส้นทาง เราจะได้เห็นภาพนักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกวัย ทั้งคนไทยและต่างประเทศปั่นจักรยานกันอย่างสนุกสนาน มีทั้งมาเป็นคู่ กลุ่มเพื่อน ครอบครัว เวลาปั่นสวนกันก็จะส่งยิ้มทักทาย เป็นภาพน่ารักที่ไม่ค่อยเห็นในสังคมเมืองใหญ่


ในชุมชนมีกิจกรรมหลากหลายให้ผู้มาเยือนได้ร่วมกันทำ กิจกรรมแรกที่เราจะไปทำกันในวันนี้ คือ ทำธูปหอมและผ้ามัดย้อม ที่วิสาหกิจชุมชน บ้านธูปหอมสมุนไพร หรือ บ้านธูป ซึ่งเป็นแหล่งผลิตธูปหอมไล่ยุง 5 ดาว ก้าวแรกที่เดินเข้าไปก็สัมผัสได้ถึงความร่มรื่นของบรรยากาศบ้านสวน และกลิ่นหอมของธูปสมุนไพร เราเห็นกลุ่มหนุ่มสาวและชาวต่างชาติกำลังทำธูปอย่างตั้งอกตั้งใจ หลังจากฟังคำอธิบายวิธีทำจากวิทยากรแล้วเราก็ลงมือทำกันเลย เริ่มจากนำส่วนผสมสมุนไพรไล่ยุง มีตะไคร้ สะเดา มะกรูด ขมิ้นชัน อบเชย มาคลุกเคล้ากันเติมน้ำลงไปนวดให้เหนียวแล้วเอามาพอกบนก้านธูปที่ทำจากไม้ไผ่ชุบจันทร์เหนียว บิดให้เป็นเกลียวสวยงาม ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของที่นี่ เสร็จแล้วตากไว้ให้แห้ง แค่นี้ก็ได้ธูปหอมสมุนไพรไล่ยุงฝีมือตัวเองแล้วค่ะ หรือถ้าอยากจะซื้อเป็นของฝาก เขาก็มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายราคาไม่แพง


เสร็จจากทำธูปหอมแล้วก็มาต่อด้วยกิจกรรมมัดย้อมซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นการมัดย้อมด้วยวิธีย้อมร้อนและย้อมเย็น เมื่อเรามัดลายผ้าที่ต้องการเสร็จแล้วก็เอาพู่กันจุ่มสีมาระบายลงในส่วนที่ไม่ได้มัดจนชุ่ม ซึ่งแต่ละคนก็จะสร้างสรรค์ลายผ้าเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จากนั้นก็ทิ้งไว้สักพักแล้วแกะลายนำไปผึ่งแดดให้แห้งก็จะได้ผ้าสีสันสดใส นอกจากผ้าเช็ดหน้าแล้วยังมี เสื้อ หมวก กระโปรง ผ้าคลุมไหล่ ให้เราเลือกนำมามัดย้อมตามใจชอบ เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถนำกลับบ้านได้ ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมสนุกและภูมิใจกับผลงานที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้น เคล็ดลับคือนำไปตากแดดให้แห้งสนิทอีกราวสองวันก่อนนำไปซักจะทำให้สีจะติดทนนานยิ่งขึ้นค่ะ


วิสาหกิจชุมชนบ้านธูปหอมสมุนไพร
คุณกัญญาพร นวลสะอาด
โทร 0 2815 0729
22 หมู่ 3 ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง
จังหวัดสมุทรปราการ 10130


จากบ้านธูปปั่นไปกันต่อที่ “บ้านธัญพืชพูลสุข” นวดผ่อนคลายความเมื่อยล้า เรียนรู้ วิธีการทำลูกประคบธัญพืช เป็นการนำภูมิปัญญาความรู้เรื่องสมุนไพรมาประยุกต์ร่วมกับการแพทย์สมัยใหม่ มาทำเป็นลูกประคบแทนการใช้สมุนไพรสดทำให้การใช้งานสะดวกขึ้น พกพาง่ายและเก็บไว้ได้นาน เช่น เม็ดเดือย (ช่วยเรื่องเหน็บชา) เม็ดถั่วเขียว (เก็บความร้อนได้สูง) ข้าวเหนียวเขี้ยวงู (ช่วยเรื่องกระดูกเสื่อม) เมล็ดถั่วต่างๆ (ช่วยเรื่องของแคลเซียมบำรุงกระดูก) สมุนไพรจากการบูร (ช่วยแต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ ลดบวม) สัตตบรรณหรือตีนเป็ดน้ำ (ช่วยเรื่องข้อต่างๆ) มาทำเป็นลูกประคบธัญพืช หรือ ‘สัตตบรรณธัญพืช’ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาว ที่มีชื่อเสียงของตลาดบางน้ำผึ้ง นอกจากลูกประคบแบบที่เราเห็นทั่วไปแล้ว ยังมีแบบหมอนรองคอธัญพืช เข็มขัดธัญพืช หมอนคลุมไหล่ หมอนกดจุด เพื่อให้ง่ายต่อการประคบในจุดต่างๆ ด้วย บ้านธัญพืชพูลสุข เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้เรื่องการบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรและบริการนวดประคบเพื่อสุขภาพ แก้ปวดเมื่อย คลายเส้น

ลูกประคบสมุนไพรธัญพืช
คุณศิริพร พลูสุข
โทร 08 4009 2266
31 หมู่ที่ 3 ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง
จังหวัดสมุทรปราการ 10310


หลังจากผ่อนคลายสบายตัวจากการประคบด้วยสมุนไพรกันแล้ว คราวนี้เราก็ได้เวลาปั่นไปหาความอร่อยกันที่ บ้านขนมถ้วยแม่ประคอง ที่นี่เราสามารร่วมกันทำขนมถ้วยด้วยตนเองทุกขั้นตอน เริ่มจากการผสมแป้งและส่วนผสมต่างๆ ตักใส่ถ้วย ใส่ในลังถึง เป็นอีกกิจกรรมที่สามารถนำสูตรไปใช้ทำเองที่บ้านได้ด้วย การทำขนมถ้วยที่นี่เป็นสูตรโบราณที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษและกระบวนการทำก็ยังคงขั้นตอนดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน ใช้สีจากสมุนไพรธรรมชาติ เช่น สีเขียว คั้นเอาน้ำจากใบเตยที่ปลูกเอง สีม่วงจากสีของน้ำดอกอัญชัญ ใช้กลิ่นหอมจากดอกไม้ เช่น ดอกกุหลาบ ในส่วนของน้ำกะทิก็เป็นน้ำกะทิคั้นสดใช้มะพร้าวห้าวเก็บจากต้นเพื่อความเข้มข้นและหวานมัน เคล็ดลับความอร่อยของขนมถ้วยสูตรโบราณที่นี่คือ การใช้น้ำตาลมะพร้าวที่ทำให้มีรสชาติหอมหวานละมุน การได้ทานขนมถ้วยร้อนๆ นึ่งสดๆ จากเตา หอมหวานแทบละลายในปากนับว่าเป็นการเพิ่มพลังในการปั่นจักรยานได้ดีทีเดียว

ขนมถ้วยแม่ประคอง
คุณอทิวัต รอดคลองตัน
โทร 08 9119 6669
10 หมู่ 3 ตำบลบางน้ำผึ้ง
อำเภอ พระประแดง
จังหวัดสมุทรปราการ 10130


อิ่มจากบ้านขนมถ้วยแล้วเราไปกันต่อที่ กิจกรรมจักสาน เป็นการสาธิตและสอนการทำจักสานจากใบของต้นจากที่เราเห็นอยู่ตลอดสองข้างทางที่ปั่นมา ในสมัยก่อนมักจะนำมาสานเป็นของเล่นให้เด็กๆ มีรูปร่างต่างๆ เช่น นก ปลาตะเพียน ตะกร้อ ดอกไม้ ปู ตั๊กแตน โดยอาจารย์มะลิ ผู้เป็นคลังแห่งภูมิปัญญาของชาวจังหวัดสมุทรปราการ สอนการตัดกระดาษเป็นพวงมะโหด ความพิเศษของฐานนี้คือการเรียนสานกระโปรง หรือ กระเปง ที่คนในสมัยก่อนใช้แทนกระเป๋าหรือถุงไว้ใส่สิ่งของ ใส่ของฝาก ใส่ผลไม้ ทำจากทางของต้นจากมาสานกันออกมาเป็นกระเป๋ารูปสี่เหลี่ยม นับเป็นอีกภูมิปัญญาดั้งเดิมที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน


ส่วนตรงข้ามเป็น กิจกรรมการทำน้ำสกัดย่านางใบเตย เป็นการต้มแบบโบราณกับหม้อ 4 ใบ ใช้หม้อต้มใบย่านางและใบเตยจนเดือดให้ระเหยเป็นไอแล้วสกัดเอาน้ำจากไอน้ำกลั่นใส่เหยือก ปล่อยให้เย็นแล้วนำมาบรรจุลงขวด คุณสมบัติของใบย่านางเป็นสมุนไพรลดความดันในเลือด ลดคอเรสเตอรอล ส่วนใบเตยมีคุณสมบัติบำรุงหัวใจ นำน้ำสกัดมาใช้ฉีดพ่นตามใบหน้าร่างกายจะทำให้ผิวพรรณเต่งตึง คลายร้อนทำให้สดชื่นได้อีกด้วย


แทบไม่น่าเชื่อว่าการมาปั่นจักรยานในชุมชนบางน้ำผึ้ง นอกจากจะได้มาสูดอากาศบริสุทธิ์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังมีกิจกรรมดีๆ ที่ให้เราสามารถใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ได้อย่างคุ้มค่ามากกว่าที่คิด เป็นอีกวันเวลาดีๆ ที่มีความหมายและน่าประทับใจยิ่ง และหากท่านใดที่อยากสัมผัสวิถีชุมชนให้ลึกซึ้งมากขึ้น ที่นี่มีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ให้บริการแบบพักค้างคืน ชื่นชมกับบรรยากาศยามเช้าของแม่น้ำเจ้าพระยา สัมผัสอากาศดีๆ นั่งจิบกาแฟ ฟังเสียงนกร้อง และถ้ามาตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ก็สามารถไปช้อปปิ้งของอร่อย ของดีประจำถิ่น ที่มีให้เลือกอย่างมากมายได้ที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง วันหยุดคราวหน้ามาปั่นจักรยานที่บางน้ำผึ้งกันนะคะ

จักสาน และ น้ำสกัดใบย่านาง
คุณอาภรณ์ พานทอง และคุณมะลิ พูนสวัสดิ์
โทร 08 9807 2501
33/2 หมู่ 3 ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130

 

หมายเหตุ :
กิจกรรมทุกฐานมีค่าใช้จ่าย กรุณาติดต่อสอบถามล่วงหน้า

ขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. 0 3851 4009