ย้อนรอยกาลเวลาตามหาอารยธรรมขอม ณ ดินแดนอีสานใต้ บุรีรัมย์...สุรินทร์ เมืองต้องห้าม...พลาด พลัส
อีสานใต้ ดินแดนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของอารยธรรมเก่าแก่ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวอารยธรรมขอมโบราณที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ชัดเจน เห็นได้จากร่องรอยแห่งอารยธรรมที่รุ่งโรจน์ คือกลุ่มปราสาทหินที่ความงามเป็นที่ปรากฏหลายหนแห่งในอีสานใต้ ไม่ว่าจะเป็นปราสาทพนมรุ้ง...ปราสาทเมืองต่ำ ในจังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มปราสาทตาเมือน ...ปราสาทตาควาย ที่จังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้แล้ว บุรีรัมย์ยังเป็นดินแดนแห่งภูเขาไฟที่ทิ้งร่อยรอยไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ค้นคว้าศึกษา ตำนานที่มาของการสร้างศาสนสถานของคนโบราณ ได้แก่ ภูเขาไฟกระโดง...ภูเขาไฟพนมรุ้ง...ภูเขาไฟอังคาร แม้ภูเขาไฟเหล่านี้จะดับไปนานแสนนานแล้ว แต่ความสวยงามแห่งมนต์ขลังดึงดูดให้เราต้องเดินทางไปย้อนเวลาหาอดีต สัมผัสความงามอันทรงคุณค่าที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามานับร้อยพันปี
วัดเขาพระอังคาร
อารยธรรมโบราณและตำนานบนภูเขาไฟ
ภายใต้ความสงบเงียบของขุนเขาอันเป็นที่ตั้งของวัดเขาพระอังคารแห่งนี้ หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าในอดีตสถานที่แห่งนี้ เคยเป็นภูเขาไฟที่ปะทุร้อนแรงมาก่อนแต่ปัจจุบันดับสนิทไปแล้ว ที่นี่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในทางธรณีวิทยา และยังเต็มไปด้วยร่องรอยแห่งอารยธรรมอันล้ำค่าที่คนรุ่นเก่าก่อนได้สร้างสรรค์ไว้ มีวัตถุโบราณเก่าแก่จำนวนมาก อีกทั้งเป็นยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำนานเกี่ยวกับพุทธศาสนา จากคำบอกเล่ามาแต่โบราณว่ากันว่า วัดเขาพระอังคารนี้ตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ประทุในยุคควอเทอร์นารี หรือเมื่อประมาณ 700,000 ปีมาแล้ว ด้านหน้าทางเข้าวัดเราจะพบ พระพุทธรูปปางไสยาส หรือพระนอนสีทองอร่ามองค์ใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางสนามหญ้าสีเขียวขจีที่ขึ้นอยู่บริเวณโดยรอบงามทำให้องค์พระสวยสง่ายิ่งนัก
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2520 โดยพระอาจารย์ปัญญา วุฒิโส สำนักถ้ำผาแดง จังหวัดอุดรธานี ได้นั่งปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานและนิมิตเห็นหลวงปู่วิริยะเมฆซึ่งเป็นผู้สำเร็จอรหันต์ประทับอยู่บนเขาพระอังคารมาอาราธนาท่านให้ไปทำการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุอันล้ำค่า มีพระอังคารธาตุ ใบเสมาศิลาแลง 8 คู่ 8 ทิศ และรอยพุทธบาทจำลองเพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สืบทอดประเพณีของพุทธองค์ให้เจริญรุ่งเรืองให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี ต่อมาพระอาจารย์ปัญญา วุฒิโส ได้เดินธุดงค์มายังเขาพระอังคารก็ได้พบเห็นโบราณวัตถุตามที่หลวงปู่วิริยะเมฆนิมิตให้ทุกอย่าง จึงได้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรม และมีญาติโยมจากหมู่บ้านใกล้เคียงและต่างจังหวัดมารักษาศีลปฏิบัติธรรมอยู่ประจำเสมอมา
รูปแบบของอุโบสถเป็นทรงสี่เหลี่ยมบนหลังคาเป็นเจดีย์สามองค์คล้ายกับพระปรางค์สามยอด ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ยอดเจดีย์แต่ละองค์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมลดหลั่นกันไป กึ่งกลางของฐานแต่ละชั้นทำเป็นชั้นซุ้มเรือนแก้วประดับ และได้บรรจุพระอังคารธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บนสถูปยอดพระอุโบสถ ตัวอุโบสถทาด้วยสีแดงเลียนแบบสีลาวาภูเขาไฟเพื่อให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ด้านในประดิษฐานพระประธานคือ พระพุทธชินราชจำลอง มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรสวยงามเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระเวสสันดรและพระโพธิสัตว์ พุทธประวัติขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นภาษาอังกฤษ วาดโดยทีมของนายมิคกี้ ฮาร์ท จิตรกรชาวพม่า ด้านนอกของอุโบสถจะพบหลักฐานสำคัญคือ ใบเสมาหินตั้งอยู่บริเวณรอบๆ ถึง 8 คู่ ทำจากหินบะซอลต์ซึ่งสามารถพบได้ที่เขาอังคารนี้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เนื่องด้วยปรากฏใบเสมาเป็นจำนวนมากทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดแห่งนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของโบราณสถานในสมัยทวารวดี อันเป็นยุคที่ขอมเรืองอำนาจ จึงคาดว่าสร้างในสมัยเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้ง
ใบเสมามีขนาดสูงราว 108-210 เซนติเมตร เป็นศิลปะขอมแบบไพรกเมง สลักเป็นรูปทิพยบุคคลหรือเทวรูปในพระพุทธศาสนานิกายมหายานประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยมด้านหลังมีพัดโบกและมีฉัตรอยู่ด้านบน บางชิ้นก็เป็นรูปสลักวงธรรมจักร และลวดลายหนึ่งคือรูปจำหลักพระเจ้าชัยวรมันเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะทวารวดีและศิลปขอม เดิมทีมีด้วยกัน 8 คู่ ตั้งอยู่ 8 ทิศ จำนวน 16 หลัก ปัจจุบันเหลือเพียง 15 หลัก ได้มีการแยกไปไว้ที่วิหารเก่าแก่ด้านทิศตะวันออกของอุโบสถซึ่งเป็นพระตำหนักเสด็จปู่วิริเมฆ จำนวน 3 หลัก และไว้ที่อาคารทางทิศเหนืออีก 1 หลัก จากร่องรอยจำหลักสามารถสันนิษฐานได้ว่า ชุมชมโบราณรอบๆ บริเวณนี้เคยเจริญรุ่งเรืองและเลื่อมใสในพุทธศาสนามาก่อน ส่วนกำแพงรอบพระอุโบสถนั้นมีพระอรหันต์ 109 รูป
ด้านทิศตะวันตกของอุโบสถคือ มณฑป ภายในมีพระพุทธคันธารราช ศิลปะแบบโยนก สมัยพุทธศตวรรษที่ 7 ประดิษฐานอยู่ และมีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่เบื้องหน้าองค์พระพุทธรูป ส่วนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นอาคารสี่เหลี่ยมส่วนบนเป็นรูปบายศรี มีราวบันไดซ้าย-ขวาเป็นรูปของพญานาคราช ภายในอาคารเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีอริยเมตไตร จากทางด้านทิศตะวันตกของอุโบสถเราเดินเข้าไปจะเจอเจดีย์สี่เหลี่ยมด้านบนสูงสุดเป็นรูปดอกบัว ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความสูงที่สุดของวัดแห่งนี้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร ด้านข้างวัดจะเป็นสวนป่าปฏิบัติธรรมและมีตำหนักเจ้าแม่กวนอิม หน้าตำหนักเจ้าแม่กวนอิม มีพระพุทธรูปปางสมาธิ ส่วนถัดไปทางด้านหลังมีพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่
ที่มาของชื่อภูเขาพระอังคารเล่ากันว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว โทณพราหมณ์ได้แจกจ่ายพระธาตุไปยัง 8 พระนครแล้ว แต่มีเมืองๆ หนึ่งไปขอพระธาตุหลังจากที่ได้แจกจ่ายไปหมดแล้ว โทณพราหมณ์จึงนำทะนานทองคำตวงพระอังคารธาตุ (ขี้เถ้า) ให้ไป เมื่อได้พระอังคารธาตุจึงได้เดินทางกลับมาทางทิศอีสานใต้ พอถึงภูเขาลูกหนึ่งคือภูเขาลอยมีรูปลักษณะสวยงามรูปร่างเหมือนรูปพญาครุฑนอนคว่ำหน้าเกิดความคิดว่าน่าจะนำพระอังคารธาตุบรรจุไว้ ณ ที่แห่งนี้ จึงได้สร้างสถานที่บรรจุพระอังคารธาตุไว้ที่บริเวณไหล่ซ้ายของพญาครุฑ และเปลี่ยนชื่อภูเขาลอยเป็นภูเขาพระอังคารตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ภูเขาพระอังคาร มีความสูงประมาณ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปกคลุมพื้นที่ประมาณ 90 ตารางกิโลเมตร มองจากมุมสูงจะมีลักษณะคล้ายพญาครุฑกำลังกระพือปีกหรือคว่ำหน้า หันหัวไปทางทิศใต้คือหมู่บ้านถาวร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ส่วนของลำตัวที่เป็นต้นปีกซ้ายคือวัดเขาอังคารสถานที่บรรจุพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเจดีย์ของพระอุโบสถ ส่วนปีกซ้ายยื่นไปทางทิศตะวันออกคือหมู่บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ส่วนหางยื่นไปทางทิศเหนือคือบ้านสวายสอ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
เราใช้เวลาหลายชั่วโมงอย่างเพลิดเพลินที่วัดเขาพระอังคาร ทำให้รู้ว่าที่นี่คือแหล่งขุมทรัพย์แห่งความรู้ขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นอีกสถานที่หนึ่งของตำนานแห่งภูเขาไฟในอดีต แหล่งศึกษาค้นคว้าด้านธรณีวิทยาที่สำคัญ มีพุทธสถานทรงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์หวงแหนให้แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และการนับถือศาสนาของบรรพบุรุษ รวมทั้งวิวัฒนาการในการก่อสร้างศาสนสถานที่มีการผสมผสานโบราณวัตถุเก่าแก่และสิ่งก่อสร้างใหม่ได้อย่างลงตัว
วัดเขาพระอังคาร
ตั้งอยู่ที่บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
ผ้าภูอัคนี ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ
การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาและทรัพยากรธรรมชาติ
ภูเขาไฟอังคาร แม้ภูเขาไฟจะดับไปนานแสนนานแล้ว แต่ยังสร้างประโยชน์ให้คนยุคปัจจุบันได้ ล่าสุดกลุ่มสตรีทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ นำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาประยุกต์ใช้ ด้วยการนำดินภูเขาไฟอังคารที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการย้อมผ้า เพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ ผ้าที่ถูกย้อมด้วยดินภูเขาไฟจะมีสีน้ำตาลอ่อน และน้ำตาลแดง เนื้อผ้านุ่ม เบา เย็นสบาย มีนามว่า ผ้าภูอัคนี
จากวัดเขาพระอังคารเพียง 3 กิโลเมตรเราจะพบหมู่บ้านเจริญสุข หมู่บ้านผลิตผ้าภูอัคนีอันมีชื่อเสียงโด่งดัง เราโชคดีที่ได้พบและพูดคุยกับ คุณแม่สำรวย ศรีมะเรือง ผู้คิดค้นการทำผ้าภูอัคนี คุณแม่เล่าให้ฟังว่า ในราวปี พ.ศ. 2549 ได้มีโอกาสขึ้นไปยังเขาพระอังคารเพื่อสำรวจการทำฝายชะลอน้ำ ได้พบกับดินภูเขาไฟสีแดงบนซีกหนึ่งของเขาพระอังคารคิดว่าดินนี้สีสวยมีเอกลักษณ์ ก็เลยนำมาทดลองทำการย้อมกับเส้นไหมแล้วก็ได้สีสันที่สวยงามแปลกตาดังที่คิดไว้ และเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า คุณแม่สำรวยเลยมีความคิดที่จะสร้างผ้าภูอัคนีให้เป็นสินค้าสัญลักษณ์ประจำชุมชน จึงได้นำฝ้ายมาหมักย้อมด้วย ในช่วงแรกเมื่อผ้าภูอัคนีผ่านการซักรีดสีจะซีดเร็ว จึงได้มีการนำพืชสมุนไพรมาประยุกต์ใช้กับดินภูเขาไฟ เช่น สีของเปลือกประดู่ที่ให้สีสันใกล้เคียงกัน และแช่ด้วยน้ำมะขามเปียกหรือใบส้มเสี้ยว เพื่อให้ผ้าที่ผ่านการหมักนุ่มขึ้น ผ้าภูอัคนีมีการทอหลายขนาด เช่น ผ้าพันคอ...ผ้าคลุมไหล่ และทอเป็นผืนกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อนำไปแปรรูปตัดเป็นเสื้อผ้า...กระเป๋า...หมวก แต่จะไม่มีการทำเป็นผ้านุ่งผ้าซิ่น เพราะเชื่อว่าดินที่ใช้ในการหมักย้อมเป็นของสูงมาจากเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์คือ เขาพระอังคารที่มีพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ และเขาลูกนี้มีลักษณะเป็นรูปพญาครุฑกำลังคว่ำหน้า ซึ่งครุฑก็ถือว่าเป็นสิ่งมงคลอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นการนำผ้าภูอัคนีไปใช้นอกจากเรื่องสวยงาม ความนุ่มเย็นสบาย ยังนำความเป็นมงคลมาให้ผู้สวมใส่อีกด้วย
ในปัจจุบันนอกจากดินภูเขาไฟแล้ว ยังได้มีการนำเกล็ดหินและพืชหลายชนิดมาหมักย้อมผ้าเพื่อเพิ่มสีสันให้มีความหลากหลาย เช่น เกล็ดหิน...ลูกมะเกลือ...ลูกตะโก...ดอกอัญชัน...ครั่ง...แก่นต้นคูน...แก่นฝาง..เปลือกมะพูด...เปลือกมะม่วง...ดอกดาวเรือง ฯลฯ มาผสมผสานตามลวดลายบนผืนผ้า ดังนั้นในผ้าหนึ่งผืนจึงมีทั้งสีจากดินภูเขาไฟ และสีจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านด้วย
คุณแม่สำรวย กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางกลุ่มสตรีทอผ้าหมู่บ้านเจริญสุข เปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตผ้าภูอัคนี เพื่อเป็นการส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชน เผยแพร่และให้ร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาแห่งผ้าภูอัคนี การอุดหนุนผ้าภูอัคนีเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ ส่งเสริมสังคมให้อยู่อย่างยั่งยืน และมีความสุขสืบไป
คุณแม่สำรวย ศรีมะเรือง โทร 08 9526 6071
หมู่บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
มหัศจรรย์ความงามนับพันปี
จากหมูบ้านผ้าภูอัคนี เราเดินทางกันต่อไปยัง ปราสาทพนมรุ้ง มหัศจรรย์ความงามนับพันปี หนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ไม่ว่าใครที่มาเยี่ยมเยือนบุรีรัมย์ต้องไม่พลาดการไปชมความงามนับพันปีของโบราณสถานแห่งนี้
ปราสาทหินพนมรุ้ง ห่างจากวัดเขาพระอังคารประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่นานเราก็ได้ยลโฉมปราสาทหินอันเลื่องชื่อระบือนามติดอันดับโลกของดินแดนอีสานใต้ ปราสาทหินทรายสีชมพูตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทยังคงทิ้งปริศนาได้อย่างน่าพิศวงกับภูมิปัญญาอันแยบยลของคนโบราณกับการวางผังปราสาท ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติ พระอาทิตย์ขึ้นและตกตรงกัน 15 ช่องบานประตู แสงแรกแห่งอรุณรุ่งที่ส่องกระทบกับศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นหัวใจสำคัญของปราสาท ถือเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นดำเนินชีวิตในวันใหม่ โดยปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นปีละ 4 ครั้ง ในแต่ละปีจะมีผู้คนจำนวนมากขึ้นไปชมความอัศจรรย์นี้ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี
ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นด้วยหินทรายสีชมพู ในราวพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย อุทิศแก่พระศิวะ(พระอิศวร) ซึ่งประทับอยู่ ณ เขาไกรลาศ ที่เชื่อว่าอันเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาลปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้เป็นแนวเส้นตรง จุดศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทประธาน ตั้งอยู่ในตรงกลางลานปราสาทชั้นใน ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลางคือ ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ซึ่งเป็นแทนองค์พระศิวะ ในเทวสถานแห่งนี้เต็มไปด้วยภาพแกะสลักหินบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดู เช่น ภาพพระศิวนาฎราช (ท่าฟ้อนรำ) ภาพเทพองค์ต่างๆ ได้แก่ พระพรหม พระนารายณ์ รวมทั้งภาพสลักนางอัปสรา นางฟ้าอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของปราสาทขอมในท่วงท่าอันอ่อนช้อยสวยงาม และภาพจำหลักที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่ผู้คนต่างให้ความสนใจคือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประทับอยู่ทับหลังมณฑปปราสาทประธาน ครั้งหนึ่งเคยสูญหายไป เมื่อปี พ.ศ. 2503 และได้รับคืนจากนครชิคาโก ในปี พ.ศ. 2531
ปราสาทหินพนมรุ้ง
ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
ปราสาทเมืองต่ำ
เทวสถานแห่งคติภูมิจักรวาล
ห่างจากปราสาทพนมรุ้งไปเพียง 8 กิโลเมตร ในอำเภอประโคนชัย เป็นที่ตั้งของปราสาทเมืองต่ำ อีกหนึ่งปราสาทหินที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามของจังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นราบล้อมรอบด้วยป่าขนาดย่อม ทางเดินภายในบริเวณปราสาทเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นตลอดทาง
ปราสาทเมืองต่ำ ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิมแต่เป็นชื่อที่ชาวเมืองเรียกขานกัน เนื่องจากตัวปราสาทตั้งอยู่บนพื้นราบอยู่ต่ำกว่าปราสาทหินพนมรุ้งที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน และ แบบคลังปะปนกันอยู่ จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูเช่นเดียวกับปราสาทพนมรุ้ง ตัวปราสาทโดดเด่นในเรื่องคติภูมิจักรวาลที่สร้างตามความเชื่อในเรื่องของแกนจักรวาล หลักฐานสำคัญคือ ปรางค์ทั้ง 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง แถวหน้ามี 3 องค์ และแถวหลังมี 2 องค์ โดยปรางค์ประธานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางแถวหน้า เราสามารถมองเห็นปรางค์ทั้ง 5 องค์ได้โดยไม่บดบังซึ่งกันและกัน ตัวปราสาทล้อมรอบด้วยน้ำทั้ง 4 ทิศ แสดงสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุอันเป็นที่อยู่ของพระศิวะเทพเจ้าสูงสุดของศาสนาฮินดู มีมหาสมุทรสีทันดรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ แนวกำแพง 2 ชั้นโดยรอบปราสาทเปรียบได้กับภูเขาที่ล้อมรอบเขาไกรลาสตามตำนานว่ากันว่ามีเขาถึง 7 ลูกด้วยกัน
ปราสาทเมืองต่ำ เป็นเทวาลัยอันเป็นผลงานชั้นยอดของช่างเขมรโบราณ ที่ถ่ายทอดคติความเชื่อทางศาสนาให้แก่ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูได้สมบูรณ์แบบครบถ้วน เราได้มีโอกาสถ่ายภาพปราสาทเมืองต่ำจากมุมสูง ยิ่งทำยิ่งให้ทึ่งในความสวยงามของการวางผังปราสาทอย่างแยบยลในทุกมุมที่มีสัดส่วนเท่ากันในทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นระเบียงคตและซุ้มประตู สระน้ำรอบปราสาททั้ง 4 มุม และตำแหน่งปรางค์ทั้ง 5 ยิ่งทำให้พิศวงในภูมิปัญญาแห่งช่างขอมโบราณ
ปราสาทเมืองต่ำ
ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง
ตำนานแห่งต้นโยนีปีศาจ
บนถนนสาย 2445 มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองบุรีรัมย์ เราจะมองเห็นพระพุทธรูปสีทองอร่ามตั้งเด่นตระหง่านอยู่บนยอดภูเขากลางใจเมือง นามว่า ‘ภูเขาไฟกระโดง’ ซึ่งกาลครั้งหนึ่งเคยเป็นภูเขาไฟที่พ่นลาวาร้อนแรงมาก่อน บันไดนาคราช จำนวน 297 ขั้น ที่ทอดยาวขึ้นไปเบื้องบนนำเราไปยังยอดเขากระโดงเพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานที่จะเล่าประวัติความเป็นมาของภูเขาไฟลูกนี้ให้เราฟังค่ะ
เจ้าหน้าที่วนอุทยานภูเขาไฟเขากระโดงเล่าว่า บริเวณนี้ขึ้นกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นภูเขาไฟเก่าที่อายุน้อยที่สุดในจังหวัดบุรีรัมย์ อายุอยู่ในช่วงประมาณ 6,660,000 - 1,220,000 (หกล้านหกแสนสองหมื่นปีถึงหนึ่งล้านสองแสนสองหมื่นปี) ปัจจุบันดับสนิทแล้ว วนอุทยานนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ตัวเมือง มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 1,400 ไร่ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งวนอุทยานเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจแวะมาเยี่ยมเยียนเป็นประจำและเพิ่มมากขึ้นทุกปี
เดิมชื่อ ‘วนอุทยานเขากระโดง’ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง’ จังหวัดบุรีรัมย์มีภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วจำนวน 6 ลูก นับว่าเป็นจังหวัดที่มีภูเขาไฟจำนวนมากที่สุดของประเทศ จึงเป็นที่มาของคำขวัญจังหวัดที่ว่า ‘เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ’ ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ได้แก่ ภูเขาไฟไปรบัด...ภูเขาไฟเขาอังคาร... ภูเขาไฟหลุบ...ภูเขาไฟเขาคอก...ภูเขาไฟพนมรุ้งและภูเขาไฟกระโดง ทางวนอุทยานมีการจัดให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ภูเขาไฟกระโดง เรียนรู้เรื่องธรณีวิทยา เรื่องหิน เรื่องธรรมชาติ ให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากจะมาชมภูเขาไฟแล้วนักท่องเที่ยวยังนิยมมากราบนมัสการพระที่ประดิษฐานอยู่บนนี้ นามว่า ‘พระสุภัทรบพิตร’
เขากระโดง หรือภาษาเขมร เรียกว่า พนมกระดอง คือมองมามีลักษณะคล้ายกระดองเต่า สิ่งที่คนให้ความสนใจอีกอย่างคือหินภูเขาไฟที่สามารถลอยน้ำได้ นักธรณีวิทยาตั้งชื่อให้เข้าใจง่ายว่า ‘หินฟองน้ำลายพญานาค’ เป็นหินที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ มีหลายแบบ เช่น แบบหัวมันเทศ ลอยไปสูงแล้วเย็นตัวก่อนตกลงมา...แบบจานบิน ลอยขึ้นไปแล้วแข็งตัวตอนยังไม่เย็น ตกลงมาแล้วแบออกเหมือนดินน้ำมัน และ แบบลักษณะลาวาที่ไหลหลากมากับพื้น
เดิมทีบนเขาลูกนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ตั้งปราสาทขอมโบราณมีอายุประมาณ 800 กว่าปี ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สันนิษฐานว่าใช้หินทรายที่ลากจากแหล่งหินตัดบ้านกรวด เพราะละแวกนี้จะไม่มีหินทรายสีชมพูลักษณะนี้ เป็นแหล่งเดียวกับหินที่ใช้สร้างปราสาทพนมรุ้ง ตรงกลางปราสาทมีการสันนิษฐานว่าเดิมอาจเป็นองค์เทวรูป ปัจจุบันประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง 2 องค์ บริเวณนี้ยังมีร่อยรอยของโบราณวัตถุ คือ มีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผา ปราสาทนี้จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมเก่าก่อนของผู้คนแถบบริเวณนี้
‘พระสุภัทรบพิตร’ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานบนภูเขาไฟกระโดง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2512 เดิมองค์พระมีสีขาวเมื่อฝนตกทำให้เกิดตะไคร่น้ำทำให้องค์พระไม่สวยงาม จึงมีการเปลี่ยนให้เป็นสีทอง ฉัตรที่อยู่เหนือเศียรองค์พระได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาทำพิธียกฉัตร คาดว่าน่าเป็นฉัตรกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุด มีความกว้าง 11.22 เมตร สูงประมาณ 5.88 เมตร ทำด้วยสแตนเลสชุบทองไททาเนียม หนัก 5 ตัน ในเวลากลางคืนองค์พระจะสวยงามจากแสงไฟจากยอดฉัตรนี้ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีจะเป็นประเพณีขึ้นเขาไฟกระโดง คือการขึ้นมาเปลี่ยนผ้าอังสะพระสุภัทรบพิตร จะมีผู้คนจำนวนมากมาร่วมกันถือผ้าอังสะเดินขึ้นตามบันไดนาคจนมาถึงที่ประดิษฐานขององค์พระ
‘ต้นโยนีปีศาจ’ เป็นอีกจุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อราว 10 กว่าปีก่อน บนเขากระโดงแห่งนี้จะพบต้นไม้หายาก ในทางวิชาการเรียกว่าพืชถิ่นเดียวคือจะขึ้นเฉพาะในบริเวณที่เป็นภูเขาไฟเก่าเท่านั้น มีชื่อภาษาเขมรว่า ‘เดิมกะนุยขม้อย’ เป็นพืชตระกูลเดียวกับมะกอกโคก มะกอกดอน นี้ เวลาผลสุกจะแตกออกเป็นสองซีกมีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศหญิง ต่อมาชาวบ้านได้แปลเป็นภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า ‘ต้นหีผี’ ภายหลังได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ว่า ‘ต้นโยนีปีศาจ’
ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นโยนีปีศาจน่าจะมีมาเป็นเวลา 300 กว่าปีมาแล้ว มีเรื่องเล่าว่า ท้าวปาจิต โอรสกษัตริย์นครธม ฝั่งนครกัมพูชา ผูกพันรักใคร่กับนางอรพิม หรือลูกนางบัวที่อยู่แถวพนมรุ้ง นางอรพิมได้พลัดพรากจากท้าวปาจิตต้องเดินทางรอนแรมในป่า ด้วยความกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยก็เลยอธิษฐานฝากอวัยวะเพศหญิงไว้ที่ต้นไม้ก็คือต้นโยนีปีศาจ ปทุมถันฝากไว้ที่ต้นงิ้วป่า ดังนั้นแถวปากปล่องก็จะมีต้นงิ้วป่าขึ้นอยู่ด้วย ปัจจุบันต้นโยนีปีศาจพบได้ที่เขากระโดง...เขาพนมรุ้ง และเขาอังคาร ซึ่งเป็นบริเวณดินภูเขาไฟเก่า แต่ต้นที่ใหญ่ที่สุดคือต้นที่อยู่ข้างองค์พระสุภัทรบพิตร บนเขากระโดง
บริเวณปากปล่องภูเขาไฟมีการทำสะพานแขวนไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เดินข้ามและสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของปากปล่องช่องปะทุของภูเขาไฟ จะเห็นร่องรอยของลาวาที่ปะทุและไหลเป็นลำธารลอดสะพานแขวน ทางขวามือไหลเข้าไปที่บริเวณสนามไอโมบาย สเตเดี้ยม แล้วไหลเข้าตัวเมืองบุรีรัมย์ ส่วนทางซ้ายมือไหลไปครอบคลุมอำเภอห้วยราช ครอบคลุมพื้นที่ไปประมาณ 70,000 กว่าไร่ จากการบันทึกของบรรพบุรุษมีว่าเมื่อมีการปะทุมิใช่มีการดับในทันที ลาวาจะไหลทับไปเรื่อยๆ และร่องรอยที่ยังเห็นหลงเหลืออยู่คือตัวปล่องภูเขาไฟ เดิมอาจอยู่สูงเลยขึ้นไปแต่เวลาผ่านมาหลายแสนปีมีการย่อยสลายเป็นดินทับถมมีต้นไม้เกิดขึ้น ตัวปล่องภูเขาไฟมีความกว้างประมาณ 80 ไร่ ถ้ามองจากโดรนหรือเครื่องบินในมุมสูงก็จะมีลักษณะคล้ายพระจันทร์เสี้ยว
วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง
บ้านน้ำซับ ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์
จังหวัดบุรีรัมย์
ยำแตร็ยปรัย อาหารถิ่นรสเด็ด
มาถึงถิ่นบุรีมรัมย์ต้องไม่พลาดที่จะลิ้มชิมรสสุดยอดอาหารถิ่นของที่นี่ ยำแตร็ยปรัย เมนูยอดฮิตจานเด็ดที่ใครแวะมาเยือนต้องลิ้มลอง
‘ยำแตร็ยปรัย’ ตัวเด่นของเมนูนี้คือ กุ้งจ่อมและปลาจ่อม คำว่า ‘จ่อม’ เป็นภาษาอีสานหมายถึง การหมักดอง ภูมิปัญญาพื้นบ้านของการถนอมอาหารอย่างหนึ่งที่ทำสืบทอดกันมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน ส่วน ‘แตร็ยปรัย’ เป็นภาษาเขมร ‘แตร็ย’ แปลว่า ปลา ‘ปรัย’ แปลว่า เค็ม ความหมายโดยรวมคือ ปลาหมักเค็ม
กระบวนวิธีการจ่อมปลา-กุ้ง คือ นำปลาเล็กปลาน้อย หรือกุ้งฝอยที่หาได้มากในฤดูน้ำหลาก หลังจากทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว นำมาหมักกับน้ำปลาในภาชนะที่ปิดสนิทเมื่อผ่านไป 2 วันก็ใส่ข้าวคั่วลงไป คนข้าวคั่วให้คลุกเคล้าทั่วกัน จากนั้นหมักปลาหรือกุ้งฝอยกับข้าวคั่วต่ออีก 2 วัน ส่วนการยำสามารถทำได้ง่ายๆ โดยนำกุ้งจ่อมมาคลุกเคล้ากับสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น มะกรูด ตะไคร้ พริก หอมซอย จะได้กุ้งจ่อมหอมหวล รสชาติเปรี้ยวเค็มนำหอมเครื่องสมุนไพร รับประทานกับผักสด ข้าวเหนียว หรือ ข้าวสวยร้อนๆ
ปัจจุบัน กุ้งจ่อมเป็นสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดบุรีรัมย์เป็นเมนูเด็ดประจำบ้านของคนในท้องถิ่น และเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อเป็นของขวัญของฝาก
กลุ่มปราสาทตาเมือน สุรินทร์
เส้นทางอารยธรรมขอมที่รุ่งเรืองในอดีต
อาณาจักรขอม เป็นหนึ่งในอาณาจักรโบราณที่มีความรุ่งเรืองมากที่สุดในอดีตกาล จวบจนปัจจุบันอาณาจักรขอมยังได้ทิ้งมรดกอันมีค่าไว้ให้กับคนรุ่นหลัง วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะในเขตอีสานใต้ ยังคงร่องรอยของอารยธรรมขอมโบราณที่งดงามอยู่มากมาย มนต์ขลังของราชอาณาจักรโบราณเหล่านี้ยังเป็นเสน่ห์ที่ลี้ลับ ชักชวนให้ผู้คนจากทุกมุมโลกพากันเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาท่องเที่ยว และเรียนรู้เรื่องราวของผู้คนในยุคอดีตปีละไม่น้อย
การเดินทางย้อนเวลาตามรอยอารยธรรมขอม ณ ดินแดนอีสานใต้ ของเราในครั้งนี้ เราปักหมุดไว้ที่กลุ่มปราสาทตาเมือน และ ปราสาทตาควาย จังหวัดสุรินทร์ เราเดินทางลัดเลาะเส้นทางเข้าสู่เขตชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาพร้อมด้วย คุณบุณยานุช วรรณยิ่ง หรือ พี่โม่ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ ที่คอยอำนวยความสะดวกในการทำงานของพวกเรา และ คุณเบญจพร สารพรม หรือคุณเปิ้ล หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ที่ให้เกียรติเป็นไกด์กิตติมศักดิ์นำชมพร้อมอธิบายเรื่องราวต่างๆ ทำให้เราได้สัมผัสเสน่ห์ของเมืองโบราณ ณ ดินแดนอีสานใต้ในอีกหนึ่งมุมมอง
ปราสาทตาเมือนธม
ศาสนาสถานขอมโบราณ
‘ปราสาทตาเมือนธม’ เป็นศาสนาสถาน หากเปรียบกับปัจจุบันก็เป็นเสมือนวัดนั่นเอง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ บริเวณเทือกเขาบรรทัด ทิวเขาพนมดงรัก (ภาษาเขมรออกเสียงว่า พนมดองแหรก แปลว่าภูเขาไม้คาน) พื้นที่ด้านล่างของปราสาทเป็นจังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ที่นี่เปิดให้เข้าชมเวลา 09.00-15.00 น. เนื่องจากเป็นแนวเขตชายแดน รอบๆ บริเวณปราสาทจะมีทั้งทหารไทยและทหารกัมพูชาร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่
‘ตาเมือน’ แปลว่า ตาไก่ ‘ธม’ แปลว่า ใหญ่ รวมเรียก ‘ตาเมือนธม แปลว่า ตาไก่ใหญ่’ ปราสาทนี้สร้างขึ้นบริเวณจุดสำคัญบนเส้นทางคมนาคมระหว่างที่ราบสูงโคราชกับเขมรต่ำ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 (ปีปัจจุบันคือพุทธศตวรรษที่ 26) มีอายุราว 1,000 ปีล่วงมาแล้ว วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นศาสนสถานอุทิศให้กับพระศิวะ (พระศิวะคือเทพผู้เป็นใหญ่ 3 องค์ของศาสนาฮินดู ประกอบด้วย พระพรหม พระนารายณ์หรือพระวิษณุ และพระศิวะหรือพระอิศวร) การสร้างปราสาทหลังนี้ได้มีการจำลองให้ปราสาทตรงกลางเป็นเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เขาพระสุเมรุเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า พระศิวะก็ประทับอยู่ในเขาพระสุเมรุแห่งนี้ด้วย บริเวณด้านหน้าปราสาทประธาน คือ บรรณาลัย ที่เป็นศิลาแลง (บรรณาลัย ตามศัพท์คือ ห้องสมุดเป็นที่เก็บพวกคัมภีร์ต่างๆ) เดินต่อไปด้านหลังคือ ปราสาทบริวารที่ประดิษฐ์สถานของเทพองค์รองลงมา
ปราสาทตาเมือนธมหลังนี้สร้างขึ้นบนแผ่นหินธรรมชาติตามสภาพภูมิประเทศ ส่วนปราสาทหลังอื่นมักสร้างอยู่บนฐานศิลาแลงบ้าง สร้างบนภูเขาบ้าง การสร้างบนแผ่นหินธรรมชาติเวลาที่ฝนตกอาจทำให้น้ำชะลงมาตัวปราสาทอาจค่อยๆ เลื่อน และมีการทรุดตัวได้แต่อาจใช้เวลาอีกหลายสิบปี วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาทจะเห็นว่าเป็นหินทราย (ก้อนสีขาวออกชมพู) แหล่งหินทราย แหล่งหินตัดที่เราพบได้ในปัจจุบันนี้คือ ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ และที่เขาศาลา อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ที่เราเห็นเป็นก้อนพรุนๆ คือก้อนศิลาแลง ศิลาแลงเป็นดินไม่ใช่หิน จะเกิดอยู่ในใต้ดิน ในภาคอีสานพบได้จำนวนมาก ศิลาแลงเกิดจากดินผสมกับแร่ควอตส์และแร่เหล็ก เวลาที่จะนำมาใช้งานจะขุดหน้าดินออกแล้วตัดศิลาแลงออกเป็นก้อนๆ เวลาอยู่ใต้ดินจะเป็นก้อนอ่อนนิ่ม สามารถตัดแซะขึ้นมาได้ จากนั้นนำมาผึ่งลมผึ่งแดดไว้เป็นเวลาประมาณ 1 เดือนก็จะมีความแข็ง และสามารถนำมาก่อสร้างเป็นตัวปราสาทได้ ข้อเสียของศิลาแลงคือไม่สามารถจะแกะสลักลวดลายได้ละเอียดเท่ากับตัวหินทราย เพราะมีรูพรุน เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ศิลาแลงที่โดนน้ำโดนฝนก็จะเป็นสนิม เพราะมีส่วนผสมของแร่เหล็กอยู่ด้วย และจะแตกออกมาเป็นเม็ดๆ ในปัจจุบันศิลาแลงได้มีการนำมาใช้ประดับสวนตามบ้านเรือนด้วย
ในการสร้างปราสาทจะมีการใช้แรงงานจาก 3 กลุ่มคือ แรงงานช่างฝีมือ ถ้าเป็นในยุคปัจจุบันอาจจะเป็นสถาปนิก มัณฑนศิลป์ โดยมีโหราจารย์ต่างๆ มาร่วมด้วย...แรงงานชาวบ้าน ใช้ในการขนย้ายวัสดุต่างๆ และแรงงานสัตว์ เช่น ช้าง ม้า ใช้ในการชักลากสิ่งของต่างๆ มายังตัวปราสาท การสร้างจะเริ่มจากการปรับพื้นให้เรียบแล้วใช้ศิลาแลงมาทำให้ฐานแน่นขึ้น จากนั้นจึงใช้ตัวหินทรายก่อขึ้นไปเป็นโครงปราสาทแล้วทำการแกะสลักลวดลายให้สวยงาม โดยปราสาทแต่ละหลังส่วนใหญ่แล้วจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพราะเป็นทิศแห่งความเป็นสิริมงคล แต่มีปราสาทบางหลังที่หันหน้าไปทางทิศอื่น เช่น ปราสาทตาเมือนธม ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศใต้ อาจเป็นเพราะว่าเพื่อให้สอดรับกับเส้นทางการเดินขึ้นเขาจากฝั่งพระนคร (กัมพูชา) จึงจำเป็นต้องหันหน้าไปทางทิศใต้นั่นเอง อีกปราสาทที่หันหน้าไปทางทิศใต้คือ ปราสาทหินพิมาย ปราสาทขนาดใหญ่ที่หลายคนรู้จักกันดี เพื่อให้รับกับเส้นทางระหว่างเมืองพิมายไปยังเมืองพระนคร และอีกหลังหนึ่งคือ เขาพระวิหาร หันหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นลักษณะของทางภูมิประเทศ ส่วนปราสาทนครวัด ปราสาทที่ใหญ่ที่สุดหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เนื่องจากว่าพระเจ้าสุริยวรมัน ที่ 2 สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บพระศพของพระองค์เอง เปรียบดังเป็นสุสานจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศแห่งความตาย
ในการแกะสลักลวดลายต่างๆ อย่างพวกหน้าบัน ทับหลัง ช่างจะใช้สิ่วและค้อนในการสลักลวดลายขึ้นมา จะเห็นว่าช่างในสมัยโบราณมีอุปกรณ์ค่อนข้างจำกัด แต่ด้วยความเป็นช่างมีฝีมือและใช้เทคนิค ความอดทนต่างๆ ก็สามารถสักลวดลายขึ้นมาได้ ซึ่งลวดลายต่างๆ เหล่านี้ก็ใช้บอกอายุสมัยของตัวปราสาทได้ เช่นเดียวกัน ด้านในจุดสำคัญสันนิษฐานว่าปราสาทตาเมือนธมนี้ สร้างขึ้นในช่วงสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 หรือ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 เพราะในช่วงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จะอยู่ในช่วงนครวัด ปราสาทหลังนี้ถือว่าอยู่ในช่วงของบาปวน มณฑปคือทางที่จะเข้าไปสู่ปราสาท ที่สำคัญที่สุดของตัวปราสาทหลังนี้ประดิษฐานเป็นแท่นหินมงคลใช้ในการบรรจุพวกแผ่นทองหรืออัญมณี อุทิศให้กับเทพเจ้าแห่งดวงดาวที่ดูแลปกป้องรักษาที่แห่งนี้ ถัดเข้าไปเป็น โคนนทิ พาหนะของพระศิวะ เวลาที่พระศิวะจะเดินทางไปไหนมาไหนก็จะขี่ตัวโคนนทิไป และเมื่อเสร็จภารกิจกลับมา โคนนทิก็จะมาหมอบเฝ้าอยู่เป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระศิวะท่านประทับหรือสถิตอยู่ข้างในปราสาทนี้
จุดที่สำคัญที่สุดของศาสนสถานแห่งนี้ คือ สวยัมภูวลึงค์ หรือ ศิวลึงค์ที่เกิดจากหินธรรมชาติ ที่ประดิษฐานอยู่ใจกลางห้องครรภคฤหะในปราสาทประธาน เป็นตัวแทนของพระศิวะอยู่ในรูปของอวัยวะเพศชาย เพราะเชื่อว่าศิวลึงค์นี้เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งสิ่งมีชีวิตทั้งปวง คนสมัยโบราณคงจะมีการสำรวจหาสถานที่ เพื่อทำการสร้างปราสาท เมื่อพบหินธรรมชาติที่มีลักษณะคล้ายกับศิวลึงค์ จึงสร้างปราสาทขึ้นล้อมรอบ ศิวลึงค์ของที่นี่เริ่มชำรุดแล้ว แต่เดิมนั้นน่าจะสมบูรณ์มากกว่านี้ อาจมีการกระเทาะหรือสึกกร่อนไปตามกาลเวลา เนื่องจากมีอายุกว่าพันปีมาแล้ว มีความเชื่อว่าถ้าศิวลึงค์ถูกทำลายบ้านเมืองนั้นก็จะถูกทำลายไปด้วย ถ้าศิวลึงค์มีการชำรุดก็จะใช้พวกทองคำมาทำการซ่อมแซมเชื่อมให้ติดกัน ในสมัยโบราณคนทั่วไปจะไม่สามารถเข้ามาที่ห้องนี้ได้ จะมีเพียงพราหมณ์ผู้ทำพิธีกับกษัตริย์เท่านั้น ในการทำพิธีจะมีการเทน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์รดลงไป น้ำจะไหลออกไปทางท่อโสมสูตร (ท่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์) ที่ต่อจากแท่นศิวลึงค์ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มารอรับ จากการบูรณะปราสาทประธานพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพวกประติมากรรม รูปเทพ พาหนะเป็นรูปช้าง รูปกระบือ และที่สำคัญคือศิลาจารึก ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 9 หลัก ตอนนี้บางส่วนได้จัดเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ศิลาจารึกที่พบกล่าวถึงการสรรเสริญพระศิวะ บอกรายนามทาสและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลปราสาทแห่งนี้
องค์ปราสาทประธานมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ด้านหลังจะเป็นปราสาทบริวารจำนวน 2 หลัง สันนิษฐานว่าใช้ประดิษฐานรูปเคารพซึ่งอาจเป็นศิวลึงค์หรือรูปเคารพของเทพองค์รอง ระเบียงคดจะอยู่ล้อมรอบตัวปราสาทสามารถใช้เป็นทางเดินสำหรับผู้ที่มาจาริกแสวงบุญ และเป็นที่ตั้งของศิลาจารึกเพื่อประกาศเรื่องต่างๆ จะเห็นว่าที่ปราสาทแห่งนี้จะมีการแกะสลักลวดลายต่างๆ ที่มีความหมาย เช่น ลายดอกบัว เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ ความสะอาด เราจะเห็นได้ว่าปราสาทของเขมรมักจะมีการทำดอกบัวอยู่ค่อนข้างมาก ลายดอกไม้ต่างๆ มาจากการดัดแปลงดอกไม้ที่พบตามธรรมชาติ ลายพญานาค คนเขมรมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนคือพญานาค สมัยก่อนอาณาจักรเขมรมีทะเลสาบขนาดใหญ่ มีธิดาพญานาคขึ้นมาอยู่บนบกแล้วเจอกับพราหมณ์ที่มาจากประเทศอินเดีย เกิดพบรักและแต่งงานกัน บิดาของธิดาพญานาคเลยสูบน้ำออกจากทะเลสาบออกทั้งหมดกลายเป็นดินแดนของอาณาจักรเขมรในปัจจุบันนี้ เพื่อให้ลูกเขยและลูกสาวได้มีที่อยู่อาศัยได้สืบทอดวงศ์วานต่อไป คนเขมรจึงมีความเชื่อในเรื่องพญานาคเป็นอย่างมาก
ทวารบาล ผู้รักษาประตู คล้ายๆ กับยักษ์ที่เฝ้าประตูที่วัดแจ้ง วัดโพธิ์ เป็นผู้รักษาประตูไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้าไปภายในได้ ถ้าเป็นปราสาทของพระศิวะซึ่งตั้งอยู่บนเขาไกรลาศในเขาพระสุเมรุ จะมี ทวารบาล 2 องค์ ชื่อว่า นนทิ กับมหากาล นนทิก็คือโคนนทิที่ทำหน้าที่เป็นพาหนะเมื่อไปข้างนอก เมื่อกลับมาก็ทำหน้าที่เฝ้าประตูเป็นเทวดานนทิ ส่วนมหากาลเป็นยักษ์ เป็นภาคหนึ่งของพระศิวะที่แบ่งภาคออกมากลายเป็นมหากาล จะเห็นชัดเจนที่ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
นางอัปสรา เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร เป็นการกวนระหว่างอสูรกับเทวดาให้ได้น้ำอมฤต ในการกวนน้ำอมฤตก็จะมีนางอัปสรเกิดขึ้นมาเป็นล้านๆ องค์ นางอัปสรจะใช้เรียกรูปสลักในปราสาทที่มีการกวนเกษียรสมุทร เช่น ปราสาทนครวัด
หน้ากาล หรือ เกียรติมุข ลวดลายหนึ่งมักพบได้ที่ซุ้มหน้าบันของปราสาทขอม ตามตำนานมีว่าเทวดามาขอให้พระศิวะปราบอสูร พระศิวะก็ได้บันดาลให้ตัวหน้ากาลกระโดดออกมาจากคิ้วมาฆ่าอสูร แต่พออสูรเห็นหน้ากาลน่ากลัวมากก็เลยยอมแพ้ในทันที เมื่อหน้ากาลเกิดมาก็เกิดความหิวกระหาย พระศิวะก็เลยอนุญาตให้หน้ากาฬกินตัวเองได้เพื่อแก้ความหิว หน้ากาฬก็เลยกินตัวเองเหลือแค่หน้ากินแม้กระทั่งปากล่าง พระศิวะก็เลยตระหนักได้ว่าความโกรธนี้ช่างร้ายแรงนักสามารถกินได้แม้กระทั่งตนเอง ได้มอบหน้าที่หน้ากาลไปอยู่ที่หน้าประตูของพระองค์เพื่ออำนวยอวยชัยให้คนที่มาเฝ้าให้เกิดความโชคดี
ลูกมะหวด คือ ซี่ลูกกรงทำจากหินแกะลายเลียนแบบพวกเครื่องไม้ ประดับอยู่บริเวณช่องหน้าต่างของปราสาท
การสร้างปราสาทจะมีความเชื่อว่าจะต้องสร้างไม่เสร็จ จะต้องมีการก่อสร้างต่อเติมไปเรื่อยๆ ถ้าสร้างแล้วเสร็จจะหมายถึงว่าเป็นการสิ้นรัชกาล ปราสาทเขมรจะมีรูปทรงเป็นเรขาคณิตแบบสมมาตร การดูปราสาทว่าอยู่ในช่วงสมัยใดก็จะดูรูปแบบของศิลปะเทียบเคียงกับปราสาทหลังอื่นๆ ที่อยู่ในสมัยเดียวกันหรือศึกษาจากศิลาจารึกที่พบในปราสาทหลังนั้นๆ ชื่อของศิลปะเขมรจะใช้ตามชื่อของปราสาท เช่น ปราสาทนครวัดก็เป็นศิลปะนครวัด ศิลปะบาปวนก็มาจากปราสาทบาปวน เป็นต้น เทคนิคการวางหินจะมีการวางซ้อนเหลื่อมๆ กันเพื่อให้น้ำหนักของหินกดทับกันเอง
ปราสาทตาเมือนโต๊ด (ตาเมือนเล็ก)
อโรคยศาล
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 อารยธรรมขอมเจริญสูงสุดแผ่ขยายทั่วพื้นที่อีสานใต้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรขอมทรงเลื่อมใสนับถือพุทธศาสนา นิกายมหายานเป็นอย่างมาก แต่ในขณะที่กษัตริย์องค์ก่อนๆ นับถือศานาฮินดู ไศวนิกายหรือไวษณพนิกาย เมื่อพระองค์ทรงนับถือในศาสนาพุทธจึงเปรียบประหนึ่งพระองค์เองเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะให้ประชาชนของพระองค์พ้นทุกข์ ถึงได้มีการจารึกไว้ว่า ‘โรคทางกายของราษฎรเป็นโรคใจที่เจ็บปวดอย่างยิ่ง แม้ว่าความทุกข์นี้จะมิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่ก็เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง’ เพราะฉะนั้นแล้วพระองค์จึงโปรดให้สร้างโรงพยาบาล หรือ อโรคยาศาล ขึ้นรอบพระนครถึง 102 แห่งด้วยกัน (ตามจารึกที่ปราสาทตาพรหมกล่าวไว้) ในประเทศไทยพบปราสาทอโรคยศาลถึง 30 แห่งในจังหวัดสุรินทร์ เช่น ปราสาทตาเมือนโต้ด...ปราสาทจอมพระ...ปราสาทช่างปี่ และปราสาทบ้านปราสาท เป็นต้น จะเห็นว่าตรงกลางปราสาทประธานหลังนี้คือ ปราสาทประธานใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระไภษัชยคุรุ ชื่อเต็มว่า พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต หรือ พระพุทธเจ้าแพทย์ เป็นพระพุทธเจ้าซึ่งรักษาคนป่วย มีความเชื่อว่ามีความเจ็บปวดตรงไหนเราก็ไปลูบตรงส่วนนั้นของพระไภษัชยคุรุ เช่น ปวดตา ให้ลูบตา ปวดเข่าให้ลูบเข่า ถ้าลูบก็จะหายจากความเจ็บป่วยนั้นๆ ปัจจุบันเรานับถือในรูปของ พระกริ่ง ที่เชื่อว่าพกติดตัวไว้จะเกิดความปลอดภัยแคล้วคลาดต่างๆ และจะมี พระอวโลกิเตศวร เป็นโพธิสัตว์ มี 4 กร พระอวโลกิเตศวร ได้รับการนับถืออย่างมาก ในประเทศจีนและญี่ปุ่นจะนับถือในรูปของเจ้าแม่กวนอิม
ถัดจากตัวปราสาทประธานเป็นอาคารสีน้ำตาลสร้างด้วยศิลาแลงคือ บรรณาลัย (บรรณาลัยหมายถึงหอสมุดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา) ล้อมรอบจะเป็นตัวกำแพง ตรงทางเข้าของกำแพงด้านหน้าเรียกว่า โคปุระ หรือ ซุ้มประตูทางเข้า ปราสาทแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่อความเป็นสิริมงคล ถัดมาจากตัวปราสาททางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นสระน้ำปูด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันไดลงไปตักน้ำ ถ้าเราไปเจอปราสาทแบบนี้ มีบรรณาลัย โคปุระ มีกำแพงล้อมรอบ และมีสระน้ำ สามารถบอกได้เลยว่าคือ อโรคยศาล เพราะแผนผังของอโรคยศาลทุกแห่งจะมีลักษณะแบบนี้
ปราสาทตาเมือนโต๊ด เปรียบเสมือนวัดประจำโรงพยาบาล ก่อนที่จะเอายาสมุนไพรไปทำการรักษาคนป่วย เขาจะนำสมุนไพรนั้นไปประกอบพิธีกรรมข้างในเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์แล้วจึงเอามารักษา คนป่วยไม่ได้นอนอยู่ข้างใน แต่จะปลูกเป็นโรงไม้ โรงเรือนหย่อมๆ เอาไว้เป็นที่พักให้กับคนป่วย เราเจอรูปประติมากรรมของพระยมเป็นเทพแห่งความตายอยู่ที่อโรคยศาล เช่น ที่ปราสาทช่างปี่ ด้วย หากคนป่วยเสียชีวิตลงก็เกิดความอุ่นใจว่าถึงแม้จะตายที่นี่ก็ยังมีผู้นำทางไปสู่ทางที่ดี โดยจากจารึกพบว่าอโรคยศาลจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่จะเป็นหมอ เป็นพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่เป็นแพทย์ มีผู้คอยให้การพยาบาล คนต้มยา คนคอยหายา แรงงานต่างๆ ฉะนั้นอโรคยศาลแต่ละแห่งใช้แรงงานประมาณ 70-100 คน
โคปุระทางเข้าด้านในพื้นปูด้วยศิลาแลงเพราะในสมัยนั้นหาง่าย นำมาตัดแล้วเรียงๆ กันเป็นพื้น ซ้าย-ขวาอาจเคยประดิษฐานรูปเคารพก็เป็นได้ ตัวปราสาทประธานที่มีความสำคัญอาจใช้หินทรายถ้าสามารถหาได้ ยอดเป็นศิลาแลง ยอดบนสุดของตัวปราสาทเป็นรูปทรงดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นมงคล เรียกว่า บัวยอดปราสาท ปราสาทก็คือเรือนหรืออาคารที่มียอดซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ นั่นเอง ตรงสันมีการย่อมุม เพิ่มมุม มิใช่เป็นสี่เหลี่ยมทื่อๆ ชิ้นส่วนต่างๆ ของปราสาทได้ลบเลือนหายไปบ้างแล้ว แต่พอจะเห็นร่องรอยของตัวอาคารว่ามีหน้าบัน(สามเหลี่ยมหน้าจั่ว) และทับหลังอยู่บริเวณบนขอบประตูมีการแกะสลักเรื่องราวต่างๆ
ปราสาทตาเมือน (บายกรีม)
ธรรมศาลา
ปราสาทตาเมือน หรือ ธรรมศาลา คือที่พักคนเดินทาง จากหลักฐานจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ระบุถึงพระราชกรณียกิจสำคัญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กล่าวถึงการสร้างถนนเชื่อมระหว่างเมืองพระนครกับเมืองต่างๆ ที่เรียกกันว่า เส้นทางราชมรรคา ได้โปรดให้สร้างธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง ซึ่งในจารึกเรียกว่า วหนิคฤหะ หรือ บ้านมีไฟ รวมทั้งสิ้น 121 แห่ง ควบคู่ไปกับ อโรคยาศาล หรือ สถานพยาบาล หนึ่งในเส้นทางสายสำคัญนี้ที่เชื่อมไปยังวิมายะปุระ หรือ พิมาย มีที่พักคนเดินทางถึง 17 แห่งด้วยกัน อยู่ในประเทศไทย 9 แห่ง อยู่ในอาณาจักรกัมพูชา 8 แห่ง ปัจจุบันได้ค้นพบหมดแล้วทั้ง 17 แห่ง โดยปราสาทแต่ละหลังมีระยะทางห่างกันโดยประมาณสิบกว่ากิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่คนสามารถพอเดินทางได้ในเวลา 1 วัน โดยแต่ละวันที่เดินก็จะมาจบที่ปราสาทแต่ละหลัง
ปราสาทตาเมือน ใช้สำหรับเป็นที่พักของผู้ที่เดินทางไปทำการจาริกแสวงบุญตามปราสาทต่างๆ เช่นไปปราสาทตาเมือน แล้วเดินไปต่อยังปราสาทเมืองต่ำ ไปปราสาทพนมรุ้ง ไปจนถึงปราสาทพิมาย หรือจะใช้เป็นเส้นทางที่ใช้ในการทำการค้าแล้วมาพักแรมก็เป็นได้ สังเกตได้จากรูปทรงอาคาร ถ้าได้ไปเจอปราสาทที่มีรูปทรงอาคารลักษณะเป็นห้องยาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก็สามารถบอกได้เลยว่าคือธรรมศาลา หรือที่พักคนเดินทาง เพราะทุกที่จะมีรูปแบบเดียวกันหมด
ปราสาทตาเมือนแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีหน้าต่างอยู่ 5 ช่องทางทิศใต้ ทางทิศเหนือจะปิดทึบ ข้างในท้ายสุดปราสาทมีเป็นรูปเคารพอยู่ด้วย แต่ในปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว คาดว่าอาจจะเป็นพระพุทธรูป หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ด้านหน้าทางเข้าจะมีทับหลังรูปพระพุทธรูปซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าปราสาทแห่งนี้สร้างในศาสนาพุทธอย่างแน่นอน ปกติคนที่เดินทางจะไม่มานอนข้างในเช่นเดียวกับที่อโรคยศาล องค์ปราสาทจะเป็นเหมือนกับวัดประจำธรรมศาลานั่นเอง ส่วนคนเดินทางก็จะมีเรือนนอน เรือนไม้อยู่รอบๆ ธรรมศาลา แต่ในปัจจุบันก็ได้เสื่อมสลายไปหมดแล้ว
ทับหลังของปราสาททำจากหินทราย ปราสาทหลังนี้ส่วนใหญ่ทำจากศิลาแลง แต่ส่วนที่ต้องรับน้ำหนักอย่างเช่นตัวกรอบหน้าต่าง กรอบประตูก็จะเป็นหินทรายแต่เป็นเพียงใช้เป็นส่วนน้อย บนยอดปราสาทก็จะเป็นหินทรายที่แกะสลักได้สวยงามประณีต ลวดลายบนหน้าบันเป็นรูปของพระพุทธเจ้าปางสมาธิ ประทับนั่งอยู่บนหน้ากาล มีสิงห์สองตัวอยู่ด้านข้าง และเป็นลายใบไม้ม้วน ซึ่งเป็นลักษณะของศิลปะแบบบายน อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 หินทรายขาวที่นี่มีลวดลายที่สมบูรณ์และชัดเจนมาก ด้านในปราสาทใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม การก่อสร้างปราสาทเขมรจะมีลักษณะสูงกับยาว จะใช้ลักษณะวิธีการซ้อนเหลื่อมกับหินให้ซ้อนกันขึ้นไปจะไม่สามารถออกทางกว้างได้ จะใช้น้ำหนักของหินกดทับกันเอง แต่ตรงไหนที่มีความเสี่ยงว่าหินจะแยกออกหรือต้องการความแข็งแรงจะใช้การเซาะร่องให้เป็นรูปเหมือนกับตัวอักษร ไอ ในภาษาอังกฤษแล้วใช้เหล็กเป็นรูปตัวไอวางระหว่างหินสองก้อนใช้ตะกั่วอุดทับเพื่อยึดเอาไว้ สมัยก่อนจะไม่ได้เปิดหลังคาโล่งเช่นนี้แต่จะมีเพดานไม้ และพื้นจะปูแผ่นไม้เอาไว้ ซึ่งปัจจุบันได้เสื่อมสลายไปหมดแล้ว พบหลักฐานจากที่ปราสาทพิมายเป็นเศษไม้หลงเหลืออยู่ และมีการจำลองไม้ให้เห็นที่ปราสาทประธานของปราสาทพิมายด้วย และหลักฐานที่ประตูจะมีหลุมเสาสำหรับใส่ประตูไม้ให้เปิด-ปิดได้
ปัจจุบันก็ยังมีผู้คนเดินทางมากราบไหว้ยังศาสนาสถานบริเวณนี้ ในช่วงใกล้วันสงกรานต์จะมีพิธีการบวงสรวงปราสาท โดยเฉพาะที่ปราสาทตาเมือนธม มีพราหมณ์มาร่วมทำพิธี คนจากฝั่งกัมพูชาสามารถเดินทางขึ้นมาได้ตรงบริเวณชายแดนทางขึ้นปราสาท
กลุ่มปราสาทตาเมือน เทือกเขาพนมดงรัก
บ้านหนองคันนาสามัคคี ตำบลบ้านตาเมียง
อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
ปราสาทตาควาย
หรือปราสาทตาวาย
‘ปราสาทตาควาย’ ภาษาเขมรเรียก ‘ปราสาทตากรอเบย’ เป็นปราสาทที่พบใหม่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มีการสำรวจโดย มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ และ วราสารเมืองโบราณ เมื่อปี พ.ศ. 2546 ตั้งอยู่ในบริเวณช่องเขาตาควาย บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ตัวปราสาทจะเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ สร้างอยู่บนสันเขาห่างจากหน้าผาประมาณ 10 เมตร ไม่มีปราสาทบริวาร เป็นปราสาทที่ใช้หินทรายก่อขึ้นไปเป็นโครงปราสาทแล้วแต่ไม่ปรากฏลวดลายสลัก คาดว่าปราสาทนี้น่าจะยังสร้างไม่เสร็จจึงมีแต่ตัวปราสาทประธาน ไม่มีปราสาทอื่นประกอบด้วย ซึ่งอาจจะเป็นข้อดีตรงที่ตัวปราสาทไม่มีลวดลายจึงไม่ถูกทำลาย เช่นการแกะตัวที่เป็นสลักลวดลายออกไป
จากรูปทรงปราสาทสันนิษฐานว่าอาจจะสร้างอยู่ในช่วงของปลายสมัยนครวัดต่อช่วงต้นสมัยบายน คือช่วงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 อายุประมาณ 800-900 ปีมาแล้ว สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานหรือเป็นวัด เพราะตรงกลางมีลักษณะคล้ายกับสวยัมภูวลึงค์ (ศิวลึงค์ธรรมชาติ) แต่ว่าลักษณะจะไม่ชัดเหมือนที่ปราสาทตาเมือนธม การก่อสร้างใช้ฐานศิลาแลง และตัวปราสาทก่อขึ้นไปโดยใช้หินทราย สร้างได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวรูปทรงปราสาทที่ก่อกันขึ้นไป มีทางเข้าทั้งหมด 4 ทางด้วยกัน ในแต่ละทางเข้าจะมีมุขสั้นๆ ยื่นออกมาด้วย เห็นเป็นชิ้นส่วนของปราสาท เช่น ปลายของหน้าบันที่รอการสลักรูปนาค ที่ตั้งของปราสาทจะเป็นเนินหินธรรมชาติ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาห้องครรภคฤหะก่อเป็นทรงพุ่มยอดปรางค์ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น แทนเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า การก่อสร้างใช้หินเรียงสอบวางลดหลั่นกันขึ้นไปทำให้ตัวปราสาทสูงเรียวขึ้นด้านบน เมื่อเข้าไปในตัวปราสาทจะมีอากาศที่เย็นกว่าด้านนอก เพราะมีความโปร่งระบายลมได้ดี ปราสาทที่สร้างเสร็จจะมีขื่อ คาน เพดานไม้ ปิดเอาไว้ไม่ให้เห็นด้านบน
เนื่องจากเป็นปราสาทที่พบใหม่และตั้งอยู่บริเวณเขตชายแดนไทย – กัมพูชา ในบัญชีการขึ้นทะเบียนยังไม่ได้รวมปราสาทหลังนี้เข้าไปด้วย ปราสาทตาควายเป็นความร่วมมือของ 2 ประเทศที่เปิดให้เข้าชม โดยอยู่ในการดูแลของทหารไทยกับทหารกัมพูชา ปัจจุบันยังมีประชาชนบางส่วนเดินทางทำพิธีบูชา ณ ปราสาทแห่งนี้ เปรียบเทียบได้กับการที่เราไปวัดไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ทางท้องถิ่นได้จัดให้มีประเพณีบวงสรวงปราสาทตาควายซึ่งได้มีการจัดงานขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้ว
ปราสาทตาควาย หรือ ปราสาทตาวาย
บ้านไทยนิยมพัฒนา ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
วนอุทยานพนมสวาย
ขุนเขาแห่งศรัทธา
จากตัวเมืองจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร เราก็จะเข้าสู่อาณาเขตแห่งภูเขาไฟอีกลูกหนึ่งของอีสานใต้นั่นคือ เขาพนมสวาย อยู่ในพื้นที่วนอุทยานพนมสวาย เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสวาย เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ชื่อ ‘พนมสวาย’ เป็นคำภาษาพื้นที่เมืองสุรินทร์ ‘พนม’ แปลว่าภูเขา ส่วน ‘สวาย’ แปลว่า ‘มะม่วง’ เขาพนมสวายประกอบด้วยภูเขา 3 ลูกติดต่อกัน มีชื่อพื้นเมืองเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่ พนมเปราะ แปลว่า เขาชาย...พนมกรอล แปลว่า เขาคอก และ พนมสรัย แปลว่า เขาหญิง ในทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี จะมีประเพณี ‘ตอมตูยตอมทม’ ซึ่งเป็นประเพณีขึ้นเขาพนมสวาย ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ และเป็นวันหยุดตามประเพณีมาแต่โบราณ ชาวสุรินทร์จะเดินขึ้นเขาพนมสวายเพื่อไปทำบุญตักบาตรและสักการะศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเพื่อความเป็นสิริมงคล
เมื่อเราไปถึงวนอุทยานพนมสวาย เจ้าหน้าที่วนอุทยานได้ให้การต้อนรับและอาสาเป็นไกด์ในการนำชมเขาสวายในครั้งนี้ เราเริ่มต้นด้วยการนมัสการสถูปบรรจุอัฐิธาตุ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ซึ่งเป็นพระเถระสายวิปัสนากรรมฐาน เป็นที่เคารพนับถือของชาวสุรินทร์อย่างมาก สถูปเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ก่อสร้างครอบเมรุที่พระราชทานเพลิงศพ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ประตูทางเข้าออกได้ 4 ทาง ทางเข้าสถูปและบริเวณรอบๆ มีระฆังแขวนอยู่ 432 ใบ (อีก 648 ใบจะอยู่ที่ทางขึ้นพนมเปราะ) เป็นเสมือนกำแพงล้อมรอบ ภายในมีรูปเหมือนของหลวงปู่ หล่อด้วยโลหะขนาดเท่าองค์จริง และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นประวัติของหลวงปู่, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล-อดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้า-ลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ไปพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ดุลย์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2528 ยังความปลาบปลื้มแด่สานุศิษย์ และพสกนิกรชาวสุรินทร์อย่างล้นพ้น
บริเวณด้านหน้าใกล้สถูปหลวงปู่ดุลย์จะมีซุ้มขายดอกไม้ ธูปเทียน และที่พิเศษคือจะมีไม้สำหรับเคาะระฆังให้ผู้ที่มากราบไหว้หลวงปู่ได้บูชาเพื่อใช้สำหรับเคาะระฆังที่มีทั้งหมดในเขาสวายจำนวน 1,080 ใบ โดยมีความเชื่อว่าการเคาะระฆังเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ยิ่งเคาะให้เสียงดังกังวานเท่าใดก็จะดังไปถึงเทพยดาชั้นเบื้องบน เป็นการแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศานาอย่างแรงกล้า อานิสงส์ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ทั้งด้านการงานและทรัพย์สิน และอีกอย่างหนึ่งคือการใช้ไม้เคาะบริเวณวงกลมตรงระฆังเป็นเป็นการไม่เกิดความเสียหายต่อระฆังอันมีลวดลายเป็นตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
พนมเปราะ หรือ เขาชาย
พนมเปราะ มีความสูงประมาณ 220 เมตร ยอดเขาชายเป็นที่ตั้งของ วัดพนมสวาย มีพระพุทธรูปสีขาวปางประทานพร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก องค์ใหญ่ขนาดหน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 25 เมตร ประดิษฐานอยู่ เมื่อปีพ.ศ.2523 ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ‘พระพุทธสุรินทรมงคล’ ต่อมาใน พ.ศ. 2527 มีพิธีเบิกพระเนตร และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ ณ พระนาภี (ท้อง) ส่วนบริเวณศาลาด้านหน้าองค์พระพุทธสุรินทร์มงคล เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ มีหน้าตักกว้าง 1.20 เมตร สูง 1.04 เมตร
บันไดระฆังพันใบ คือบันไดที่เราเดินขึ้นไปเพื่อกราบสักการะพระพุทธสุรินทรมงคลยังยอดเขาพนมเปราะ มีบันไดทางเดินประมาณ 200 กว่าขั้น สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ตามโครงการ “ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มีจำนวน 1,080 ใบ (อีก 432 ใบอยู่รอบสถูปบรรจุอัฐิธาตุ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) ระฆังแต่ละใบจะมีตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เป็นระฆังจากวัดในจังหวัดสุรินทร์ทั้งหมด 1070 ใบ และวัดสำคัญในกรุงเทพมหานครอีก 10 วัด ด้วยจำนวนมากถึงพันกว่าใบ จึงเป็นที่มาของชื่อ บันไดระฆังพันใบ
พนมกรอล หรือ เขาคอก
หลังจากกราบสักการะสถูปหลวงปู่ดุลย์แล้ว เรามุ่งหน้าไปที่บันไดนาคอันเป็นทางขึ้นสู่พนมกรอล หรือ เขาคอก ความสูงประมาณ 150 เมตร เป็นที่ตั้งของ ศาลาอัฏฐะมุข สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2525 โดยพุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ รูปทรงแปดเหลี่ยม มีประตูทางเข้าออกได้ 4 ทาง เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เดิมประดิษฐานอยู่บนพนมเปราะ หลังจากสร้างศาลาอัฏฐะมุขแล้วเสร็จจึงย้ายมาประดิษฐานที่นี่ ถัดจากศาลาอัฏฐะมุข เป็นศาลเจ้าแม่กวนอิม ภายในประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมสีทองอร่ามงดงาม บนผนังด้านในหลังเจ้าแม่กวนอิมมีภาพเทพเจ้าตามความเชื่อแบบพุทธนิกายมหายาน
พนมสรัย หรือ เขาหญิง
จากเขาชายเราเดินต่อไปตามถนนเพื่อไปยัง พนมสรัย หรือ เขาหญิง มีความสูงประมาณ 228 เมตร เป็นที่ตั้งของ วัดพนมศิลาราม เขาหญิงเป็นอุทยานการศึกษาพุทธธรรมที่สงบร่มรื่นเหมาะแก่การเจริญสมาธิวิปัสสนา บริเวณโดยรอบตลอดทางขึ้นไปยอดเขาจะมีพระพุทธรูปปางประจำวันให้สักการะ และทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดใหญ่ประดิษฐานบนยอดเขา และยังมีสระน้ำโบราณ 2 สระที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์ 2 ตัว ต่อมาภายหลังเกิดภัยอันตราย เต่าทั้งสองจึงได้อพยพเพื่อลงจากเขา แต่ขณะที่เดินทางถึงเพียงไหล่เขาก็เกิดอาการแข็งตัวกลายเป็นเต่าหินขนาดใหญ่ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ หินรูปเต่าศักดิ์สิทธิ์อยู่ห่างจากวัดพนมศิลาราม ประมาณ 500 เมตร บริเวณยอดสูงสุดของพนมสรัยเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเบื้องล่างที่ไกลสุดลูกลูกตา โดยเฉพาะในช่วงที่พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า แสงยามเย็นบนท้องฟ้าสวยงามยิ่งนัก คุ้มค่ากับการเดินมายังพนมสวายจริงๆ ค่ะ
วนอุทยานพนมสวาย ถือเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ทรงคุณค่าของจังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งศึกษาเส้นทางธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้ ทางธรณีวิทยา เป็นสถานที่แสวงบุญ และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ หากมีโอกาสแวะไปสุรินทร์ต้องไม่พลาดด้วยประการทั้งปวงค่ะ
วนอุทยานพนมสวาย
ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาสวาย ท้องที่ตำบลนาบัว
อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
อังแก๊บบ๊อบ
อั่วกบสุดแซ่บของชาวสุรินทร์
อังแก๊บบ๊อบ อั่วกบเสียบไม้ไผ่ย่างไฟจนเหลืองนวล ส่งกลิ่นหอมฟุ้งน่ารับประทาน สุดยอดอาหารถิ่นของจังหวัดสุรินทร์ เป็นเมนูที่หาทานได้ง่าย ร้านขายตั้งเรียงรายตามแนวยาวของถนน มีนักท่องเที่ยวจอดรถลงซื้อกันอย่างคึกคัก
อังแก๊บบ๊อบ เป็นชื่อภาษาเขมร ส่วนภาษาไทยเรียกว่า กบยัดไส้ย่าง หรือกบยัดอั่ว เป็นการนำกบมาปรุงเป็นอาหาร กระบวนการทำคือ นำกบมาทำความสะอาด ลอกหนังออก เอาหนังท้องกบด้านในแยกเก็บไว้ ตัดหัวกบทิ้ง เอาขาและเครื่องในมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาสับให้ละเอียดโรยเกลือ เอาตะไคร้ ข่า พริก ใบมะกรูด กระเทียม พริกไทย หอมแดง และใบกระเพราตำรวมกัน แล้วนำไปคลุกเคล้ากับกบสับที่เตรียมไว้จนเข้าเนื้อ จากนั้นนำไปใส่ในหนังท้องกบที่เตรียมไว้จนกลมแน่น แล้วนำไปเสียบกับไม้ไผ่จุ่มน้ำปรุงรส ย่างด้วยไฟอ่อนๆจากเตาถ่านจนสุก รับประทานกับข้าว หรือข้าวเหนียว แซ่บ!! สมเป็นสุดยอดเมนูอาหารถิ่นของชาวสุรินทร์
"รูปภาพมีสิขลิทธิ์ห้ามนำไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต"