ชุมชนขนมแปลก ริมคลองหนองบัว จังหวัดจันทบุรี

ตลาดหนองบัว จังหวัดจันทบุรี เป็นชุมชนริมคลองที่เงียบสงบ บรรยากาศร่มรื่น ทิวทัศน์สวยงามด้วยธรรมชาติแห่งผืนป่าชายเลน วิถีชีวิตเรียบง่าย มีบ้านเรือนไม้แบบโบราณหลายหลังที่เก่าแก่อายุกว่าร้อยปีตั้งเรียงรายสองฝั่งถนน ลักษณะจะเป็นบ้านทรงสูงโปร่งมีลายฉลุสวยงามคล้ายกับชุมชนย่านท่าหลวง วันนี้ คุณกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง หรือคนที่คุ้นเคยจะเรียกขานว่า ผอ.เกด ให้เกียรติเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์อาสาพาเราไปเยี่ยมชมและสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนโบราณหนองบัวแห่งนี้ค่ะ

ชุมชนโบราณหนองบัว นับเป็นชุมชมเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี คนหนองบัวส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่อพยพมาจากเกาะไหหลำ คนเก่าแก่ในท้องถิ่นเล่าให้ฟังว่า ในอดีตบรรพบุรุษของตนได้นั่งเรือสำเภามาจากเมืองจีนมาลงที่ท่าแฉลบ และต่อเรือเล็กมาเพื่อจับจองพื้นที่และตั้งรกรากกันที่นี่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านในละแวกนี้มีอาชีพประมงชายฝั่งโดยการวางโพงพาง เมื่อชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยก็ทำการค้าและปลูกผักเป็นอาชีพหลัก ต่อมาราว 30 ปีก่อน ตลาดอัญมณีในจังหวัดจันทบุรีมีความรุ่งเรือง ชาวหนองบัวจึงหันไปประกอบอาชีพทำเหมืองพลอย หลายคนร่ำรวยจากการค้าพลอยจึงทำเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว ทำให้ที่นี่กลายแหล่งโกลน และเจียระไนพลอยอีกแห่งหนึ่งของจันทบุรีมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ชุมชนหนองบัวยังเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ มีทั้งสวนเงาะ มังคุด ทุเรียน และยังมีทุเรียนที่แปรรูปแล้วจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เช่น ทุเรียนกวน ทุเรียนทอด

 

ชุมชนโบราณหนองบัว ถือเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นในเรื่องการเป็นชุมชนค้าขายเก่าแก่ มีขนมโบราณที่หายาก ซึ่งขนมบางชนิดพบได้ที่นี่ที่เดียว รวมถึงอาหารถิ่นที่มีจุดเริ่มต้นที่ชุมชน ในวันที่เรามาเยือนชุมชนพอดีตรงกับวันงานชุมชนขนมแปลก ริมคลองหนองบัว ซึ่ง ททท.สำนักงานระยอง ร่วมกับ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวของนักเดินทาง “ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง” โครงการอาหารถิ่นตะลุยกินทั่วไทย ผอ.เกด แนะนำว่ามีขนมชนิดหนึ่งที่มีชื่อแปลกและมีขายเพียงเจ้าเดียวในตลาด เราจึงไม่รอช้าที่จะเดินตามหา ไม่นานเราก็เจอ ขนมควยลิง ที่คุณยายมะลิ เคลือบแก้ว กำลังนั่งปั้นขนมทำให้ดูกันแบบสดๆ คุณยายเล่าว่าทำขนมควยลิงขายมากว่า 20 ปีแล้ว ได้รับการสืบทอดมาจากครอบครัว ส่วนผสมก็หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวขาว มะพร้าวห้าว เกลือ น้ำตาล และงา ส่วนวีธีทำก็คือนำข้าวเหนียวดำและข้าวเหนียวมาโม่เป็นแป้งผสมน้ำก็จะได้สีออกม่วงอย่างที่เห็น ปั้นเป็นแท่งเล็กๆ ขนาดเท่านิ้วก้อยใส่ลงไปต้มในน้ำเดือด เมื่อแป้งสุกจะลอยขึ้นมาตักมาคลุกกับมะพร้าว งาและน้ำตาล เราอดไม่ได้ที่จะถามถึงที่มาของชื่อขนม คุณยายเล่าต่อว่า ในสมัยโบราณไม่มีขนมขายมากมายอย่างทุกวันนี้ ชาวบ้านจึงมักทำขนมให้ลูกหลานในครอบครัวทานกันเอง เวลาที่ทำขนมนี้จะมีลิงมานั่งยองๆ เฝ้าจนเห็นอวัยวะเพศลิง จึงเป็นที่มาของชื่อขนมจนถึงปัจจุบัน ขนมของคุณยายมะลิจะขายดีมากเพราะนอกจากจะชื่อแปลกสะดุดหูแล้วรสชาติก็อร่อยเหนียวนุ่ม คุณยายบอกว่าปีนี้อายุ 78 ปีแล้ว จะทำขนมนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรงทำ

  

  


นอกจากขนมชื่อแสนแปลกของคุณยายแล้ว ร้านติดกันจะเป็น ข้าวเกรียบอ่อนไส้มะพร้าว ปกติที่เราเห็นคือข้าวเกรียบปากหม้อ แต่ที่นี่จะมีสูตรพิเศษกว่าที่อื่นคือจะใช้มะพร้าวอ่อนสดทำเป็นไส้ และแป้งจะผสมน้ำจากดอกอัญชันจึงทำให้เกิดสีม่วงอ่อนๆ น่ารับประทาน นับเป็นความแปลกแต่งต่างจากที่อื่น อีกเมนูหนึ่งที่ชื่อแปลกเช่นกัน คือ ขนมอี๋เยี่ยววัว ขั้นตอนในการทำคล้ายกับบัวลอยแต่มีความพิเศษคือจะใช้หัวน้ำตาลอ้อยเคี่ยวทำให้สีของน้ำขนมค่อนข้างเข้มเป็นสีน้ำตาล นอกจากนี้ยังมีอาหารอีกหลายเมนูที่น่าสนใจ เช่น ก๋วยเตี๋ยวกุ้งรวน ร้านนี้มีรางวัลแชมป์ประเทศไทยการันตีด้วย เจ้าของร้านเล่าว่าโดยปกติน้ำซุปของก๋วยเตี๋ยวจะใช้กระดูกหมูเคี่ยว แต่ที่นี่ก๋วยเตี๋ยวจะใช้น้ำกุ้งรวนคือเคี่ยวกุ้งนาสดๆ มาเป็นน้ำซุปทำให้รสชาติจะหอมหวานรสกุ้ง วันนี้เราโชคดีที่ได้รับประทานอาหารมื้อกลางวันแบบอาหารถิ่นที่แปลกและอร่อยท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นริมคลองหนองบัว เมนูที่เสิร์ฟมาในปิ่นโตเถาใหญ่หลายชั้น เช่น แกงคั่วหอยสับปะรด...แกงเป็ดกะลา...ไก่ต้มมะละกอ...กุ้งทอดน้ำจิ้มถั่ว...แกงหมูใบชะมวง และน้ำพริกเกลือ

 

เมื่ออิ่มอร่อยกันแล้วก็ได้เวลาเดินชมชุมชมหนองบัวกัน ตลอดสองข้างถนนจะเป็นบ้านไม้ทรงคลาสสิกที่เห็นแล้วต้องรีบคว้ากล้องมากดชัตเตอร์ถ่ายภาพเก็บไว้เพราะว่าบ้านลักษณะรูปทรงนี้หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน เราเดินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง บ้านหลังเลขที่ 38 เป็นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดของชุมชนก็ว่าได้ เพราะสร้างขึ้นในยุคเริ่มต้นของชุมชนหนองบัว จากการพูดคุยกับเจ้าของบ้านคือ คุณลัญจกร หิโตปกรณ์ เล่าว่าบ้านหลังนี้สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2447 รวมอายุราว 112 ปี ซึ่งในรุ่นตนถือว่าสืบทอดมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ตัวบ้านเป็นเรือนไม้แถวสามห้องติดกันมีสามจั่ว สูงสองชั้น แต่เดิมไม่ได้แบ่งเป็นห้องอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ แต่จะใช้เพียงฉากกั้นบังตาเท่านั้น จุดเด่นของบ้านหลังนี้อยู่ที่วิธีการก่อสร้างเป็นแบบโบราณคือจะไม่มีการใช้ตะปูในการยึดระหว่างไม้เลย แต่จะใช้วิธีการเอาไม้มาขัดกัน ในส่วนที่เป็นเสาจะเจาะให้ทะลุและสอดไม้คานเข้าไปใช้ลิ่มตอกให้แน่น ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณ บริเวณกลางบ้านจะมีช่องขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นช่องทางในการรับ-ส่งของระหว่างชั้นล่างกับชั้นบนที่ทำเป็นโกดังเก็บสินค้า บรรพบุรุษของตนเป็นชาวจีนที่มาตั้งรกรากที่ชุมชนนี้ และทำการค้าขายโดยรับของจากเรือสินค้าที่มาส่งยังคลองหนองบัว ปัจจุบันบ้านหลังนี้จะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมเสมอ นอกจากตัวบ้านที่เก่าแก่แล้วยังมีข้าวของเครื่องใช้โบราณอีกหลายชิ้นที่เก่าแก่และหาชมได้ยากในปัจจุบัน คุณลัญจกรกล่าวทิ้งท้ายว่ายินดีต้อนรับผู้ที่สนใจและพร้อมให้ข้อมูลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งจะซ่อมแซมบ้านหลังนี้ไปเรื่อยๆ ให้คงสภาพเดิมไว้ให้นานที่สุด


หากท่านมีโอกาสแวะไปจังหวัดจันทบุรี อย่าลืมไปเยี่ยมชมชุมชนหนองบัว อีกหนึ่งวิถีโบราณชุมชนการค้าเก่าแก่ของจันทบุรีที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และมีอาหารถิ่นที่แปลกอร่อย จะปั่นจักรยานชิลๆ หรือนั่งเรือชมเส้นทางธรรมชาติ ที่นี่ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง
โทร.0 3865 5420-1