ปราสาทศีขรภูมิ ความงามที่ไม่อาจซ่อนเร้นจากสายตาชาวโลก

 

ปราสาทศีขรภูมิ ความงามที่ไม่อาจซ่อนเร้นจากสายตาชาวโลก

จากบุรีรัมย์เราเดินทางต่อไปยังจังหวัดสุรินทร์ เมืองต้องห้ามพลาด Plus เพื่อตามหานางอัปสราที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ ณ ‘ปราสาทศีขรภูมิ’ ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับตัวเอง เราปักหมุดไว้ที่ตำบลบ้านระแงง อำเภอศีขรภูมิ ซึ่งห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 34 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่นานก็มาถึงจุดหมาย  

ปราสาทศีขรภูมิตั้งอยู่ภายในชุมชนบ้านปราสาท ช่วงเย็นๆ เราจะเห็นหนุ่มสาวและครอบครัวพาลูกหลานมาเดินเล่นชมพระอาทิตย์ตกดินเป็นภาพที่เห็นแล้วแอบอิจฉาเล็กน้อย ถ้ากรุงเทพฯ มีปราสาทใกล้บ้านแบบนี้บ้างก็คงจะดี ลักษณะโครงสร้างของปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ จากจุดที่เรายืนอยู่สามารถมองเห็นปรางค์ทั้ง 5 องค์ตั้งโดดเด่นบนฐานศิลาแลง คล้ายปราสาทเมืองต่ำ แต่ขนาดเล็กกว่ามาก ด้านซ้ายมือเป็นสระน้ำซึ่งถ่ายภาพจากมุมนี้ยามพระอาทิตย์ตก จะเห็นเงาของปราสาทสะท้อนบนผิวน้ำงดงามมาก

ปราสาทศีขรภูมิเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นสมัยเดียวกับปราสาทขอมในดินแดนแถบนี้ ราวพุทธศตวรรษที่ 15-17 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมจึงมีความคล้ายคลึงกัน คือเป็นศิลปะขอมแบบบาปวนและแบบนครวัด สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ต่อมามีการดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ตรงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

  ปราสาทศีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์ 5 องค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยปรางค์บริวารทั้ง 4 ปรางค์ประธานนั้นยอดหักเหลือเพียงบัวเชิงบาตร 3 ชั้น สูง 12 เมตร ศิลาทับหลังประตูกลางจำหลักเป็นรูปเทพสิบกรหรือพระศิวะนาฏราชกำลังร่ายรำ และเทพ 4 องค์ คือ พระคเณศ พระพรหม พระวิษณุและนางปารพตี ซึ่งเป็นทับหลังที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดในประเทศ ส่วนนางอัปสราที่เราตามหานั้นอยู่ด้านหน้าของปรางค์ประธานนั่นเอง ตรงเสาประตูด้านหน้าจำหลักลายรูปอัปสรถือดอกบัว ด้านข้างจำหลักลายรูปทวารบาลยืนกุมกระบองกับอัปสร ซึ่งตามหลักฐานบอกว่าเป็นนางอัปสรที่หลงเหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศไทย ความจริงยังมีทับหลังที่เคยสูญหายและตามกลับคืนมาได้อีก 3 แผ่น ปัจจุบันนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ 2 แผ่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายอีก 1 แผ่น ส่วนทับหลังอีก 1 แผ่นสูญหายไปพร้อมกับวัตถุโบราณชิ้นอื่นๆ โดยน้ำมือมนุษย์นั่นเอง

แม้จะเป็นปราสาทหินขนาดเล็ก แต่ปราสาทศีขรภูมิก็มีความสำคัญและถือเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด จะเห็นว่าตราประจำจังหวัดสุรินทร์จะเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างอยู่ด้านหน้าปราสาทศีขรภูมิ ทุกปีจะมีการจัดงานสืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของชาวเมืองสุรินทร์