ปราสาทเมืองต่ำ ศาสนสถานแห่งคติภูมิจักรวาล

 

 

ปราสาทเมืองต่ำ ศาสนสถานแห่งคติภูมิจักรวาล

ปราสาทเมืองต่ำ เป็นชื่อที่ชาวเมืองเรียกขานต่อกันมา เนื่องจากทำเลที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้อยู่ต่ำกว่าปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำยังไม่มีประวัติความเป็นมาชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อไรและใครเป็นผู้สร้าง หลักฐานเดียวที่แสดงว่าปราสาทเมืองต่ำสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู คือศิลปะขอมแบบบาปวนและศิลปะของแบบคลัง รวมถึงภาพจำหลักเทพต่างๆ ในศาสนาฮินดู

 

ปราสาทเมืองต่ำถูกค้นพบและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติพร้อมปราสาทพนมรุ้งคือปี พ.ศ. 2478 และบูรณะซ่อมแซมเสร็จเปิดให้เข้าชมเมื่อปี พ.ศ.2540 ปราสาทเมืองต่ำมีความโดดเด่นในเรื่องคติภูมิจักรวาล หลักฐานสำคัญคือปรางค์ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ แสดงสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล โดยมีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางแถวหน้า แต่ที่น่าทึ่งคือเราสามารถมองเห็นปรางค์ทั้ง 5 องค์ได้โดยไม่บดบังซึ่งกันและกัน ปรางค์แต่ละองค์มีประตูเข้าสู่ภายในด้านทิศตะวันออก ส่วนด้านอื่นทำเป็นประตูหลอกเอาไว้ น่าเสียดายที่ปัจจุบันมีสภาพไม่สมบูรณ์นัก โดยเฉพาะปรางค์ประธานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของศิวลึงค์รูปเคารพแทนองค์พระศิวะ เหลือเพียงส่วนฐานที่ก่อด้วยศิลาแลงเท่านั้น

การขุดแต่งบริเวณปรางค์ประธาน ได้พบทับหลังประตูมุขปรางค์สลักเป็นภาพเทพถือดอกบัวขาบประทับนั่งเหนือหน้ากาลแวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทับหลังประตูปรางค์สลักเป็นเทพนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล และพบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นประดับฐาน แสดงให้เห็นว่าเดิมปรางค์เหล่านี้มีลวดลายปูนปั้นประดับ ปรางค์บริวารยังมีทับหลังติดอยู่เหนือประตูทางเข้า สลักภาพพระศิวะอุ้มนางอุมาบนพระเพลาประทับนั่งอยู่บนหลังโคนนทิ และภาพพระวรุณทรงหงส์ ในการขุดแต่งยังพบยอดบัวปราสาทสลักจากหินทรายซึ่งเคยประดับบนยอดปราสาทแต่ละหลังด้วย ปราสาทเมืองต่ำมีบรรณาลัยก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพง 2 ชั้น กำแพงชั้นในก่อด้วยหินทรายเป็นห้องแคบๆ ยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าระเบียงคด กำแพงชั้นนอกเป็นศิลาแลงเรียกว่ากำแพงแก้ว กำแพงทั้งสองชั้นมีซุ้มประตูอยู่ในแนวตั้งตรงกันทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูก่อด้วยหินทราย สลักลวดลายเป็นภาพเล่าเรื่องในศาสนาฮินดู

ระหว่างระเบียงคดและกำแพงแก้วเป็นลานกว้างปูด้วยศิลาแลง มีสระน้ำตามแนวกำแพงทั้ง 4 มุม ขอบสระกรุด้วยแท่งหินแลงก่อเรียงเป็นขั้นบันไดลงไปถึงก้นสระ ขอบบนสุดทำเป็นลำตัวพญานาคชูคอแผ่พังพานอยู่ที่มุมสระน้ำ ลักษณะเป็นนาค 5 เศียร ศีรษะเกลี้ยง ไม่มีเครื่องประดับ ซึ่งเป็นศิลปะแบบบาปวนแท้ ทางทิศเหนือของปราสาทเมืองต่ำมี ‘บาราย’ หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ‘ทะเลเมืองต่ำ’ ขอบสระก่อด้วยศิลาแลงเช่นกัน บารายเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา หมายถึงมหาสมุทรของจักรวาลที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ และยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชุมชนเมืองในสมัยโบราณอีกด้วย

นอกจากปราสาทเมืองต่ำจะแสดงสัญลักษณ์ตามคติเขาพระสุเมรุได้อย่างชัดเจนและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาปราสาทหินแบบขอมแล้ว เมื่อมองจากมุมสูงเราจะเห็นการวางผังปราสาทที่แยบยลของช่างสมัยโบราณ ซึ่งคนธรรมดาอย่างเราจินตนาการไม่ออกจริงๆ ว่าเมื่อพันกว่าปีที่แล้วพวกเขาใช้เครื่องมืออะไรในการคำนวณผังเมืองให้ออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเท่ากันพอดีพอดีได้ขนาดนี้ และนี่คงเป็นความมหัศจรรย์ที่ทำให้ปราสาทเหล่านี้ยังคงมีมนต์ขลังให้เราได้ค้นหาความลับกันต่อไป    

 

ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท ถ้าต้องการเข้าชมทั้งสองปราสาท สามารถซื้อบัตรได้ในราคาคนไทย 30 บาท ต่างชาติ 150 บาท