เส้นทาง มอก. (มงคล อำนาจ ก้าวหน้า) วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองและเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากที่สุดของจังหวัดพัทลุง
วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว
วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองพัทลุงมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย
และเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากที่สุดของจังหวัดพัทลุง
วัดเขียนบางแก้ว วัดพัฒนาตัวอย่างปี พ.ศ. ๒๕๓๓ มีชื่อเรียกกันมาหลายชื่อซึ่งเป็นไปตามกาลเวลา อาทิ วัดพระธาตุบางแก้ว วัดตะเขียนบางแก้ว วัดบางแก้ว แต่ตามประวัติศาสตร์และพงศาวดารมีชื่อเรียกขานกันว่า “วัดเขียนบางแก้ว”
ในบรรดาวัดเก่าแก่ในจังหวัดพัทลุงถือว่าวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔)
พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว เป็นโบราณสถานที่มีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งของจังหวัดพัทลุง ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเขียนบางแก้ว เชื่อว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณวัดเขียนนี้เป็นที่ตั้งของเมืองพัทลุงมาก่อน เพราะพบซากปรักหักพังของศิลาแลง และพระพุทธรูปมากมาย เช่น พระแก้วคุลาศรีมหาโพธิ (ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น) พระพุทธรูปสองพี่น้อง
ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุ เช่น ถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง ราชวงศ์เหม็ง ราชวงศ์เซ็ง สังคโลกสมัยสุโขทัย ศิวลึงค์ ฐานโยนี และพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้พื้นเมืองเป็นจำนวนมาก เป็นหลักฐานที่แสดงถึงว่าบริเวณนี้มีการติดต่อรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์
พระมหาธาตุเจดีย์บางแก้วเป็นเจดีย์ก่ออิฐฐาน ๘ เหลี่ยม สันนิษฐานว่าได้รับรูปแบบการสร้างมาจากพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๙๔ เมตร สูง ๑.๒๕ เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา
เหนือซุ้มพระมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปจีน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน มุมบันไดทั้ง ๒ ข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลมภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิเพชรฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลวยปูนปั้นรูปดอกไม้
ระเบียงหรือวิหารคตเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาล้อมรอบพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง ๓ ด้านยกเว้นทางด้านทิศตะวันออก ภายในเป็นวิหารคตเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน ๓๔ องค์ มีรูปร่างแตกต่างไม่เหมือนกันบางองค์ยิ้มบางองค์น่าหน้าดุดัน แต่ที่เหมือนกันคือหันหน้าเจดีย์ทั้งสิ้น
วัดเขียนบางแก้ว
พิกัด หมู่ที่ 4 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
ขอขอบคุณ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคใต้
และ สายการบิน ไทยไลอ้อน แอร์
#365วันมหัศจรรย์เที่ยวเมืองไทย #โมเมนต์ที่ใช่สร้างได้ไม่ต้องรอ #aworldconnect #หรอยแรงแหล่งใต้ #ทททภูมิภาคภาคใต้